ใช้ยาจิตเวชแพร่หลาย เกินไปหรือเปล่า?

การวิเคราะห์จากข้อมูลการใช้ยาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า แพทย์ให้ยาจิตเวชสำหรับผู้ป่วยชาวอเมริกันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่ 1 ใน 5 ของผู้ใหญ่ต้องกินยาจิตเวชอย่างน้อยหนึ่งขนาด อาทิ ยาแก้ซึมเศร้า (Antidepressant) ยารักษาโรคจิต (Antipsychotic) และ ยาแก้วิตกกังวล (Anti-anxiety)

การค้นพบที่น่าประหลาดใจมากที่สุด คือการเพิ่มขึ้นอย่างมากในการใช้ยารักษาโรคจิตที่มีประสิทธิผล ในกลุ่มทุกวัย และอัตราการเติบโตในผู้ใหญ่ที่ใช้ยาแก้สมาธิสั้นและภาวะไม่อยู่นิ่ง (Attention-deficit hyperactivity disorder: ADHD) ซึ่งเป็นภาวะที่มักพบในเด็กมากกว่า

ตามรายงานดังกล่าว อัตราการใช้ยา ADHD อาทิ Concerta และ Vyvanse เพิ่มเป็น 3 เท่า ในผู้มีอายุระหว่าง 20 ถึง 44 ปี ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2544 กับ 2553 และเพิ่มเป็น 2 เท่า ในช่วงเวลาเดียวกันสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 45 ถึง 65 ปี

ในภาพรวมตามรายงานของบริษัท Medco Health Solutions ผู้บริหารโครงการประกันสุขภาพ [รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา] พบว่า การใช้ยาจิตเวชในผู้ใหญ่เติบโต 22% จากปี พ.ศ. 2544 ถึงปี พ.ศ. 2553 ตัวเลขใหม่นี้เก็บจากการขอเบิกเงินคืนตามใบสั่งยาของแพทย์ ของผู้เอาประกันสุขภาพชาวอเมริกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่จำนวน 2 ล้านคน

ในขณะที่การใช้ยารักษาโรคจิต ส่วนใหญ่เติบโตอย่างต่อเนื่อง การใช้ยาแก้ซึมเศร้ากลับลดลงในเด็ก และยาแก้วิตกกังวลในผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากการใช้ยา รูปแบบของข้อมูลนี้สอดคล้องกับ (แต่เด่นชัดกว่า) ข้อมูลที่ค้นพบโดยภาครัฐ แม้ว่าข้อมูลภาครัฐมักจะออกช้ากว่าเป็นปีก็ตาม

การศึกษาเร็วๆ นี้ จากบันทึกจิตเวชทั่วไป (Archives of General Psychiatry) อ้างถึงข้อมูลก่อนปี พ.ศ. 2549 ที่พบว่า ประมาณ 10% ของประชากรใช้ยาแก้ซึมเศร้า ในขณะที่ข้อมูล ปี พ.ศ. 2553 พบว่าประมาณ 10% ของผู้ใหญ่เพศชาย ใช้ยาแก้ซึมเศร้า แต่ 21% ผู้ใหญ่เพศหญิง ใช้ยาแก้ซึมเศร้า

IMS Health ซึ่งเป็นคู่มือรายงานยอดขายยาตามใบสั่งแพทย์ฉบับล่าสุดระบุว่า การจ่ายยาจิตเวช ตามใบสั่งแพทย์ เป็นกลุ่มยา (Class) ที่มียอดขายสูงสุดในสหรัฐอเมริกาใน ปี พ.ศ. 2553 ชาวอเมริกันใช้เงิน $16.1 พันล้าน (ประมาณ 483 พันล้านบาท) สำหรับยารักษาโรคจิตเพื่อบำบัด โรคจิตจากการซึมเศร้า ความผิดปรกติของสมองทั้งสองข้าง (Bipolar disorder) และโรคจิตเภท (Schizophrenia) อีก $11.6 พันล้าน (ประมาณ 354 พันล้านบาท) สำหรับยาแก้ซึมเศร้าและ $7.2 พันล้าน (ประมาณ 21.6 พันล้านบาท) สำหรับการบำบัดภาวะ ADHD

แต่การใช้ยาจิตเวชอย่างเหมาะสมหรือไม่ เป็นความกังวลมาช้านานในบรรดาจิตแพทย์ และผู้กำหนดนโยบาย [กระทรวงสาธารณสุข] ในสหรัฐอเมริกา มีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจร้ายแรง โดยเฉพาะในหมู่เด็ก และวัยรุ่นในเรื่องความคิดฆ่าตัวตาย หรือ ความเสี่ยงถึงชีวิตในผู้สูงอายุที่มีความจำเสื่อม (Dementia)

แหล่งข้อมูล:

  1. Psychiatric Drug Use Spreads. http://online.wsj.com/article/SB10001424052970203503204577040431792673066.html? mod=WSJ_article_MoreIn_Health%26Wellness [2011, November 25].