ใช้ “พาราเซตามอล” พร่ำเพรื่อ ความเชื่อที่หลงผิด (ตอนที่ 2)

นพ. พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการ อย. กล่าวถึง ผลข้างเคียงของยาแก้ปวดยากลุ่มแรก [ที่รุนแรง] เช่น มอร์ฟีน (ข่าวเมื่อ 13 มิถุนายน 2555) ว่า อาจก่อให้เกิดผลกระทบสูง เช่น ทำให้มีอาการคลื่นไส้ มึนงง อาเจียน และกดระบบหายใจ นอกจากนี้ยังอาจมีผลกระทบต่อจิตประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวน เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น และในกรณีที่ได้รับยาเกินขนาด อาจทำให้เกิดภาวะอื่นๆ ตามมา เช่น อาเจียน ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว ชัก และระบบหายใจทำงานช้าลงจนถึงขั้นหยุดหายใจได้

ส่วนผลข้างเคียงของยากลุ่มที่สอง [ที่ไม่รุนแรงแต่] เช่น พาราเซตามอล ถ้าใช้ยาเกินขนาด และ/หรือ ต่อเนื่องยาวนานจนทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรง เช่น ในระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ ปวดท้อง และเป็นแผลบริเวณทางเดินอาหาร ในระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และหลอดเลือดสมองอุดตัน ส่วนระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม มึนงง และซึมเศร้า

นอกจากนี้ การใช้ยาแก้ปวดยาวนาน ยังอาจพบระบบเลือดที่ขัดขวางการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด มีผลต่อการทำงานของไต โดยทำให้ไตบวม ระดับโปตัสเซียมและโซเดียมในเลือดสูง ตลอดจนไตวาย และมีผลต่อผิวหนัง โดยมีอาการผื่น คัน ผิวหนังพอง บางรายอาจมีการแพ้แสงแดดอีกด้วย ในกรณีที่ใช้ยาเกินปริมาณที่แนะนำอาจจะนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ ภาวะตับวาย และเป็นอันตรายถึงชีวิต

อันที่จริง การใช้ยาพาราเซตามอลในปริมาณที่แนะนำ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยหรือไม่มีเลย ตรงข้ามกับแอสไพริน ยาพาราเซตามอลไม่ใช่ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Blood thinner) และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองกับเยื่อบุกระเพาะอาหาร และเมื่อเทียบกับยาไอบูโปรเฟน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการท้องเสีย (Diarrhea) อาเจียน (Vomiting) และ ปวดท้อง (Abdominal pain) ยาพาราเซตามอลมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่า

การใช้ยาพาราเซตามอลเป็นระยะเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนบน เช่น ทำให้มีเลือดออกในช่องท้อง (Stomach bleeding) อาจทำลายไตและตับได้ พาราเซตามอลจะถูกทำลายที่ตับและเป็นพิษต่อตับ (Hepatotoxic) ดังนั้นจึงอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ

ก่อนปี พ.ศ. 2553 มีความเชื่อว่ายาพาราเซตามอลปลอดภัยสำหรับหญิงมีครรภ์ เพราะไม่มีผลกระทบต่อทารกอย่างที่ NSAID เป็น อย่างไรก็ดี งานวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 ระบุว่ายาพาราเซตามอลอาจทำให้เกิดภาวะไม่เจริญพันธุ์ (Infertility) ซึ่งมีผลกระทบต่อทารกที่ยังไม่คลอด

พาราเซตามอลจะปลอดภัยสำหรับเด็กมากกว่าแอสไพริน เพราะไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงของการเป็นโรคในกลุ่มอาการรายส์ (Reye's syndrome) ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่ทำลายอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะสมองและตับในเด็ก นอกจากนี้ ผู้ใช้พาราเซตามอลติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด (Blood cancer) ได้

จนถึงปัจจุบันความเป็นพิษของตับจากพาราเซตามอล (Paracetamol hepatotoxicity) ก็ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการที่ตับถูกทำลายอย่างเฉียบพลันทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อาการเบื้องต้นที่เกิดจากพิษของพาราเซตามอลก็คือ อาการเลื่อนลอย (Vague) การใช้ยาเกินขนาดโดยไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตับวาย (Liver failure) และเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่วัน

กรณีที่ใช้ยาเกินขนาด การรักษาจะมุ่งไปที่การเอาพาราเซตามอลออกจากร่างกาย และให้สารกลูตาไธโอน (Glutathione) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระไปแทน อาจมีการใช้ยาบางชนิด เช่น Activated charcoal ภายหลังจากการใช้ยาเกินขนาดทันที ทั้งนี้เพื่อช่วยลดการดูดซึมของพาราเซตามอล และอาจใช่วิธีการปลูกถ่ายตับ (Liver transplant) ได้ในกรณีที่ตับถูกทำลายอย่างรุนแรง

แหล่งข้อมูล:

  1. อย.เตือนอย่าใช้ “พาราเซตามอล” พร่ำเพรื่อ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000064300 [2012, June 12].
  2. Paracetamol. http://en.wikipedia.org/wiki/Paracetamol [2012, June 12].