โฮมาโทรปีน (Homatropine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

โฮมาโทรปีน (Homatropine) คือ ยาหยอดตาที่แพทย์ใช้เพื่อขยายรูม่านตาก่อน การตรวจตา หรือ ก่อนรับการผ่าตัดลูกตาโดยจักษุแพทย์ โดยเป็นยาประเภทแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drug) ตัวยานี้มีความแรงน้อยกว่ายาอะโทรปีน (Atropine) การออกฤทธิ์ก็ใช้เวลาสั้นกว่า ระยะเวลาเริ่มออกฤทธิ์หลังหยอดยาอยู่ที่ประมาณ 10 - 30 นาที

สำหรับผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ ห้ามใช้ยาโฮมาโทรปีนหยอดตาขณะที่สวมใส่คอนแทคเลนส์ ด้วยส่วนประกอบในสูตรตำรับมีสารต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่สามารถทำปฏิกิริยากับคอนแทคเลนส์จนเกิดการเปลี่ยนสีของเลนส์ให้จางลง หลังหยอดยาไปแล้วประมาณ 15 นาทีขึ้นไปจึงจะใส่คอนแทคเลนส์ได้

ระหว่างการหยอดตาด้วยยาโฮมาโทรปีนอาจรู้สึกแสบคันบริเวณตา, ตาทนต่อแสงสว่างไม่ได้, บางคนอาจรู้สึกปากคอแห้งและกระหายน้ำ, อาการเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้นเอง เว้นแต่มีอาการอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก, ใบหน้า-ปาก-คอบวม, ผื่นขึ้นเต็มตัว, ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ซึ่งควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อนึ่ง การใช้ยาทุกชนิดกับตา/ลูกตาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและใช้อย่าง ถูกต้อง ผู้บริโภคไม่ควรซื้อหายาหยอดตามาใช้เอง ควรต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

โฮมาโทรปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โฮมาโทรปีน

ยาโฮมาโทรปีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ขยายรูม่านตาและเพื่อทดสอบ/ตรวจพยาธิสภาพของลูกตา
  • รักษาการอักเสบของยูเวีย/ยูเวียอักเสบ (Uveitis)

โฮมาโทรปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโฮมาโทรปีนคือ ตัวยาจะทำให้เกิดกลไกการขยายรูม่านตาโดยทำให้กล้ามเนื้อในลูกตาสูญเสียการควบคุมจุดเห็นภาพชัดของลูกตาไปสักระยะหนึ่ง และทำให้กล้ามเนื้อในลูกตาที่ควบคุมการหดและการขยายของรูม่านตาเป็นอัมพาตเพียงแค่ระยะหนึ่ง จึงทำให้จักษุแพทย์สามารถตรวจสอบลูกตาและทำหัตถการที่ลูกตาได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

โฮมาโทรปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโฮมาโทรปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 2% และ 5%
  • ยาหยอดตาที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น
    • Homatropine hydrobromide 2% w/v + Sodium chloride 0.57% w/v,
    • Homatropine hydrobromide 2% w/v + Chlorbutol 0.5% w/v.

*หมายเหตุ: % w/v เป็นหน่วยที่ใช้กับสารละลายโดยเป็น % ของน้ำหนัก/ปริมาตรเช่น น้ำหนักสาร 100 กรัมในสารละลาย 1 ลิตร

โฮมาโทรปีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโฮมาโทรปีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับขยายรูม่านตาและการตรวจตา: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น หยอดตา 1 - 2 หยดของยาที่มีขนาดความเข้มข้น 2% หรือหยอดตา 1 หยดของยาที่มีขนาดความเข้มข้น 5% หากจำเป็นสามารถหยอดยาซ้ำภายในเวลาประมาณ 5 - 10 นาที
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): เช่น หยอดตา 1 หยดของยาที่มีขนาดความเข้มข้น 2% หากจำเป็นสามารถหยอดยาซ้ำภายในเวลาประมาณ 10 นาที

ข. สำหรับอาการยูเวียอักเสบ (Uvetitis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น หยอดตา 1 - 2 หยดของยาที่มีขนาดความเข้มข้น 2% หรือ 5% วันละ 2 - 3 ครั้ง หรือหากจำเป็นให้หยอดทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง
  • เด็กอายุมากกว่า 2 ปี: เช่น หยอดตา 1 หยดของยาที่มีขนาดความเข้มข้น 2% วันละ 2 ครั้ง
  • เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี: เช่น ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยวัยนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโฮมาโทรปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโฮมาโทรปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดยาโฮมาโทรปีน สามารถหยอดตาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการหยอดตาในครั้งถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โฮมาโทรปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโฮมาโทรปีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ตาพร่า
  • ตากลัวแสง/ตาไม่สู้แสง
  • ความดันตาสูง
  • การใช้ยาเป็นเวลานานๆอาจก่อให้เกิด
    • อาการระคายเคืองที่ตา
    • ตาแดง
    • ตาบวม และอักเสบ
  • *ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการ เดินเซ พูดไม่ชัด ประสาทหลอน หัวใจเต้นเร็ว และหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากพบอาการเหล่านี้ แนะนำให้รีบส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้โฮมาโทรปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโฮมาโทรปีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกในลูกตาแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคต้อหิน (Narrow-angle glaucoma, Primary glaucoma)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะความดันตาสูง ผู้ที่มีภาวะลำไส้อักเสบและเป็นแผล
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กเล็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
  • ควรใช้นิ้วมือกดบริเวณถุงน้ำตา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา) เป็นเวลาประมาณ 1 - 2 นาทีหลังหยอดยาเพื่อลดการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโฮมาโทรปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โฮมาโทรปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโฮมาโทรปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโฮมาโทรปีน ร่วมกับยาบางกลุ่มอาจทำให้การออกฤทธิ์ของยาโฮมาโทรปีนมีมากขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย เช่น เกิดอาการข้างเคียงเป็นอย่างมาก ยากลุ่มดังกล่าวเช่น ยาต้านสารฮีสตามีน (Antihistamine)บางตัว, ยา Phenothiazine ยาบำบัดโรคจิต, ยาในกลุ่ม TCAs, ยากลุ่ม MAOIs, กลุ่มยาพาราซิมพาโทมิเมติก (Parasympathomimetic drugs) หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาโฮมาโทรปีนร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว

ควรเก็บรักษาโฮมาโทรปีนอย่างไร?

ควรเก็บยาโฮมาโทรปีน: เช่น

  • เก็บยาภายในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โฮมาโทรปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโฮมาโทรปีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
DWACH (ดวาช) Gatle
HOMARIN FORTE (โฮมาริน ฟอร์ท) Klar Sehen
TINILOX MPS (ทินิลอกซ์ เอ็มพีเอส) Yash Vision
ISOPTO (ไอซอพโท) Alcon

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/homatropine-ophthalmic.html [2021,Sept25]
  2. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-8338/homatropine-ophthalmic-eye/details [2021,Sept25]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Homatropine [2021,Sept25]
  4. https://www.mims.com/india/drug/info/homatropine?type=full&mtype=generic [2021,Sept25]
  5. https://www.mims.com/India/drug/info/homatropine/ [2021,Sept25]
  6. https://www.mims.com/India/drug/search/?q=homatropine [2021,Sept25]
  7. https://www.drugs.com/pro/isopto-homatropine-ophthalmic-solution.html [2021,Sept25]