โรซิกลิทาโซน (Rosiglitazone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโรซิกลิทาโซน(Rosiglitazone หรือ Rosiglitazone maleate) เป็นยาในกลุ่มไธอะโซลิดีน (Thiazolidine dione) ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ยานี้ ไม่ได้มีกลไกเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินของตับอ่อน แต่จะกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินที่มีตามปกติอยู่แล้ว จึงทำให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ตามปกติ

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโรซิกลิทาโซนเป็นยาชนิดรับประทาน และยามีการดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาในกระแสเลือดเกือบทั้งหมดสามารถเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีน ยาโรซิกลิทาโซนจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีโดยเอนไซม์ CYP2C8(Cytochrome P4502C8) จากตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3–4 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

สำหรับการใช้ยาโรซิกลิทาโซน ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และผู้ป่วยยังต้องควบคุมอาหารและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ร่วมด้วย จึงจะเกิดประสิทธิผลในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

มีข้อจำกัดของการใช้ยาบางประการที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้ยาโรซิกลิทาโซน รักษาผู้ป่วยได้ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1
  • ห้ามใช้ยาโรซิกลิทาโซนร่วมกับยาอินซูลิน ด้วยจะทำให้เกิดความเสี่ยงของหัวใจล้มเหลวตามมา
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่มไนเตรท(Nitrate)ด้วยจะทำให้มีภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)

ผู้ป่วยที่ได้รับยาโรซิกลิทาโซน แพทย์จะเริ่มต้นให้ยานี้ในขนาดต่ำสุดที่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ จากนั้น แพทย์จึงค่อยๆปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นตามการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้ ทั้งนี้ก็เพราะตัวยาโรซิกลิทาโซนอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายผู้ป่วยได้ ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้แพทย์ต้องนัดตรวจระดับน้ำตาลในเลือดควบคู่ไปกับการควบคุมดูแลการทำงานของหัวใจผู้ป่วยเป็นระยะๆไป

ยาโรซิกลิทาโซนสามารถใช้ในลักษณะของยาเดี่ยวๆเพื่อรักษาเบาหวานหรืออาจจะใช้ร่วมกับยา Metformin, Sulfonylurea, ก็ได้ โดยต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ ของแพทย์เป็นสำคัญ

ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยาโรซิกลิทาโซน ยังต้องเฝ้าระวังอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะบวมน้ำ น้ำหนักตัวเพิ่ม การทำงานของตับผิดปกติ มีภาวะกระดูกหักง่าย ซึ่งมักจะพบในสตรีมากกว่าบุรุษ ความเข้มข้นของเลือดลดลง(ภาวะซีด) ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ดังนั้นระหว่างที่ได้รับยานี้ แล้วพบเห็นอาการข้างเคียงดังกล่าวเกิดขึ้น ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการใช้ยานี้

ยาโรซิกลิทาโซนยังสามารถสร้างภาวะยาตีกันกับยาอื่นๆหลายประเภท เช่น ยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยาปฏิชีวนะ รวมถึงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยจึงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการตรวจรักษาว่า ตนเองมียาอะไรที่ใช้อยู่ก่อนหรือไม่

ยาโรซิกลิทาโซนเป็นยาที่มีจำหน่ายในประเทศอเมริกา แต่สำหรับประเทศแถบยุโรปได้เพิกถอนยาตัวนี้ออกไปแล้ว

ก่อนการใช้ยาทุกประเภทรวมถึงยาโรซิกลิทาโซน ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรต้องได้รับคำแนะนำโดยแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ ทั้งนี้จะเป็นผลดีต่อการรักษารวมถึงลดอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้ยาผิดของผู้ป่วยเอง

โรซิกลิทาโซนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โรซิกลิทาโซน

ยาโรซิกลิทาโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ

  • ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 diabetes) โดยใช้ได้ทั้งเป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวาน/ยาต้านเบาหวานตัวอื่น

โรซิกลิทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโรซิกลิทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน ที่มีตามปกติอยู่แล้ว ส่งผลทำให้ร่างกายนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ส่งผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามสรรพคุณ

โรซิกลิทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโรซิกลิทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Rosiglitazone 2 , 4 และ 8 มิลลิกรัม/เม็ด

โรซิกลิทาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโรซิกลิทาโซนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 4 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หลังจากใช้ยาไปแล้ว ประมาณ 8–12 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 8 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 8 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง โดยสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลอย่างแน่ชัด ในด้านความปลอดภัย และขนาดยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • แพทย์อาจสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้งก้ได้ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโรซิกลิทาโซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขั/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโรซิกลิทาโซน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโรซิกลิทาโซน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โรซิกลิทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโรซิกลิทาโซนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจวาย/หัวใจล้มเหลว บวมตามร่างกาย ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น จำนวนเม็ดเลือดขาวน้อยลง โลหิตจาง
  • ผลต่อตับ: เช่น ปริมาณบิลิรูบินสูงในเลือด ตับอักเสบ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ง่าย ไซนัสอักเสบ ปอดบวม
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง มีภาวะกระดูกหักง่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย

มีข้อควรระวังการใช้โรซิกลิทาโซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโรซิกลิทาโซน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามใช้ร่วมกับ ยาอินซูลิน และยากลุ่มไนเตรท(Nitrate)
  • ขณะใช้ยานี้ ควรตรวจการทำงานของหัวใจ ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของเอนไซม์ตับในเลือด ว่าปกติดีหรือไม่ ตามคำสั่งแพทย์ทุกครั้ง
  • หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน)บ่อยๆ ควรรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดรับประทานยารักษาเบาหวานที่รวมถึงยาโรซิกลิทาโซน
  • การใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุและเด็ก ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ว่าเห็นสมควรหรือไม่เท่านั้น
  • หมั่นตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโรซิกลิทาโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โรซิกลิทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโรซิกลิทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาโรซิกลิทาโซนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ด้วยจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง
  • การใช้ยาโรซิกลิทาโซนร่วมกับยาบางตัวอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่นยา Ketoconazole, Trimethoprim, Gemfibrozil, หากมีความจำเป็นต้องรับประทานยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • ห้ามใช้ยาโรซิกลิทาโซนร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโรซิกลิทาโซนร่วมกับยา Phenylephrine เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของยาโรซิกลิทาโซนลดน้อยลง

ควรเก็บรักษาโรซิกลิทาโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาโรซิกลิทาโซนภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

โรซิกลิทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโรซิกลิทาโซน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
AVANDIA (อะแวนเดีย)GlaxoSmithKline

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยาโรซิกลิทาโซน เช่น Avandaryl, Enselin, Reglit, Risicon- G, Rosicon, Rozon, Rosizon,Roglin, Rosinorm, Rositec

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/pro/rosiglitazone.html[2017,May27]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/rosiglitazone/?type=brief&mtype=generic[2017,May27]
  3. https://www.fda.gov/downloads/drugs/drugsafety/postmarketdrugsafetyinformationforpatientsandproviders/ucm143413.pdf[2017,May27]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Rosiglitazone#Efficacy[2017,May27]