โรงพยาบาลสนาม ยามจำเป็นฉุกเฉิน

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร เปิดโรงพยาบาลสนาม 1 แห่ง ประจำจุดพักพิงมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เพื่อรองรับผู้ป่วยในเขตบางเขน หลักสี่ โดยมีการระดมทีมแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 15 คน และทีมแพทย์ของศูนย์บริการสาธารณสุขเขต 24 มีห้องพยาบาล และเตียง 17 เตียง ยาและเวชภัณท์ เครื่องมือช่วยชีวิตฉุกเฉิน โดยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

โรงพยาบาลสนาม (Field hospital) เดิมเป็นแค่รถพยาบาล (Ambulance) แต่ได้วิวัฒนามาเป็นหน่วยงานเคลื่อนที่ขนาดใหญ่ ที่ให้บริการดูแลสุขภาพชั่วคราว ณ สถานเกิดเหตุการณ์หายนะ (Casualties on-site) ก่อนที่จะลำเลียงผู้ประสบภัยร้ายแรงไปยังโรงพยาบาลปกติที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้

แนวความคิดนี้ได้มาจากสนามรบ โดยเฉพาะ โรงพยาบาลเคลื่อนที่สำหรับศัลยกรรมของกองทัพบกสหรัฐอเมริกาที่รู้จักกันนาม “MASH” (Mobile Army Surgical Hospital) แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับกรณีเกิดอุบัติเหตุ ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง [แก่ชีวิตและทรัพย์สิน]

นอกเหนือจากชุดอุปการณ์การแพทย์เคลื่อนที่ (Mobile medical kit) โครงสร้างโรงพยาบาลสนาม มีลักษณะคล้ายกระโจม (Tent) ขนาดยักษ์ที่ขยายตัวพองออกหลังจากเป่าลมเข้าไป เพื่อความสะดวกในการติดตั้ง ณ สถานที่ใกล้เคียงบริเวณที่เกิดมหันตภัย

โรงพยาบาลสนามในสมัยแรกมี 25 เตียงเป็นมาตรฐาน เพื่อดูแลทหารที่บาดเจ็บหนักจนอาจเสียชีวิตจากการที่ไม่ได้รับการผ่าตัดทันท่วงที หรือจากการอพยพเป็นเวลายาวนานตามเส้นทางในป่าเขาที่สู้รบกันอยู่ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงพยาบาลสนามอเมริกัน มีจำนวน 103 แห่งซึ่งประกอบด้วยศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญและชุดอุปกรณ์การแพทย์เคลื่อนที่อยู่ใกล้กับแนวหน้าของการพุ่งรบ รวมทั้งสนับสนุนปฏิบัติการในภาคพื้นเอเชีย (อาทิ ฟิลิปปินส์) ด้วย

ปัจจุบันในฝรั่งเศส หน่วยงานให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน (French emergency medical service) ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามอย่างเป็นระบบ โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับแรกเป็นโรงพยาบาลสนาม 42 แห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งสามารถดูแลผู้ป่วยวิกฤตบนพื้นดินได้ 25 ราย โดยมีอุปกรณ์การแพทย์ (รวมยาและเวชภัณฑ์) น้ำหนักทั้งสิ้น 400 กิโลกรัม บรรทุกในรถถัง 10 คัน และสัมภาระลำเลียง (รถลาก รถพ่วง กระโจม เครื่องปั่นไฟ ฯลฯ)

ในระดับที่สอง เป็นโรงพยาบาสนาม 21 แห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งสามารถกู้ชีพผู้ป่วย (Resuscitation) ได้ 500 ราย โดยมีอุปกรณ์การแพทย์ น้ำหนักทั้งสิ้น 8 ตัน (1 ตัน = 1,000 กิโลกรัม) บรรทุกในรถถัง 150 คัน นอกจากสัมภาระลำเลียงตามปรกติแล้ว ยังมีโครงข่ายวิทยุปฏิบัติการและระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารจัดการ

การจัดองค์กรของโรงพยาบาลสนามจะแบ่งเป็น 4 เขต (Zone) เขตแรกเป็นส่วนต้อนรับและคัดแยกผู้ป่วย (Triage) ตามความร้ายแรงของการเจ็บป่วย อีก 2 เขตถัดไปเป็นการเยียวยาผ่าตัด ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนย่อย ได้แก่ส่วนกู้ชีพฉุกเฉิน ส่วนกู้ชีพก่อนถึงโรงพยาบาล และส่วนกู้ชีพที่ไม่ร้ายแรง เขตสุดท้ายเป็นของผู้ประสบภัยพิบัติจนถึงแก่ความตาย

กรณีเกิดสาธารณภัยที่มีผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมาก โรงพยาบาลสนามจะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่ทำหน้าที่ต่างๆ กันอาทิ การดับเพลิง การค้นหาและช่วยเหลือ (Search and rescue) และการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency medicine) เพื่อแยกแยะผู้บาดเจ็บสาหัสและรักษาอาการผู้ป่วยให้มีเสถียรภาพ ก่อนอพยพผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลปกติ

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.จับมือ กทม.ตั้ง ร.พ.สนามที่จุดพักพิง http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000138231 [2011, October 31].
  2. Filed Hospital. http://en.wikipedia.org/wiki/Field_hospital [2011, October 31].