โรคไบโพลาร์ อารมณ์สองขั้ว (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว ไบโพลาร์ยังต้องใช้การบำบัดทางจิต (Psychotherapy) ร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการสนับสนุน การให้การศึกษาและคำแนะนำกับผู้ป่วยและครอบครัว การบำบัดทางจิตที่ใช้กันอยู่ได้แก่

  • Cognitive behavioral therapy (CBT) หรือการบำบัดด้วยการรับรู้และพฤติกรรม ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมความรุนแรงหรือความคิดแง่ลบ
  • Family-focused therapy ช่วยให้ครอบครัวได้รับรู้ถึงอาการแรกเริ่มและสามารถช่วยผู้ป่วยได้ วิธีนี้ช่วยพัฒนาการสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัวด้วย
  • Interpersonal and social rhythm therapy เป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่นและจัดการกับกิจกรรมประจำวันซึ่งอาจจะช่วยป้องกันการเกิดอาการคลุ้มคลั่ง
  • Psychoeducation ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้สัญญาณอาการของตัวเองและการดูแลตัวเองก่อนที่อาการจะกำเริบมากขึ้น

ทั้งนี้ ในกรณีที่การใช้ยาและจิตบำบัดไม่ได้ผล อาจใช้การรักษาผู้ป่วยด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy = ECT) ด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบและยาคลายกล้ามเนื้อก่อน แล้วจึงใช้เวลารักษาด้วยไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 30–90 วินาที ซึ่งผู้ป่วยมักจะฟื้นตัวภายใน 5–15 นาที และกลับบ้านได้

บางทีก็มีการใช้วิธี ECT กับผู้ป่วยไบโพลาร์กรณีที่การใช้ยาอาจจะเสี่ยงเกินไป เช่น กรณีหญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ดี แม้ว่าวิธี ECT จะมีประสิทธิผลสูงในการรักษาภาวะซึมเศร้ารุนแรง คลุ้มคลั่ง แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่จะนำมาใช้เป็นอันดับแรก ทั้งนี้เพราะวิธี ECT อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น สับสน (Disorientation) และสูญเสียความจำ

และนอกจากการพบแพทย์แล้ว ผู้ป่วยที่เป็นไบโพลาร์สามารถดูแลตัวเองได้ดังนี้

  1. ออกกำลังกาย – จากการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยพัฒนาด้านอารมณ์ได้ ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  2. กินอาหารที่มีประโยชน์ – หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาล กินผลไม้ ผัก ธัญพืช ทั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญบางคนที่แนะนำว่า กรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 fatty acids) อาจช่วยได้ เพราะกรดไขมันนี้มีผลต่อสมอง ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับอารมณ์และพฤติกรรม ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ อย่างไรก็ดีการกินน้ำมันปลาเพื่อรักษาไบโพลาร์นั้นเป็นเรื่องที่ยังต้องการการศึกษาอีกมาก
  3. นอนหลับให้สนิท เข้านอนให้ตรงเวลาทุกวัน หลีกเลี่ยงชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ที่ทำให้นอนไม่หลับและกระตุ้นให้เกิดอาการได้
  4. ทำตัวให้ผ่อนคลาย เพราะการกระวนกระวายใจและความเครียดอาจทำอาการแย่ลง หาสิ่งที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น การเล่นโยคะ การทำสมาธิ เป็นต้น
  5. ไปพบแพทย์ตามกำหนด

แหล่งข้อมูล:

  1. Bipolar Disorder. http://www.nimh.nih.gov/health/topics/bipolar-disorder/index.shtml [2014, March 23].
  2. Bipolar Disorder, Exercise, and a Healthy Lifestyle. http://www.webmd.com/bipolar-disorder/guide/living-healthy-life-with-bipolar [2014, March 23].
  3. Is There a Diet for Bipolar Disorder? http://www.webmd.com/bipolar-disorder/guide/bipolar-diet-foods-to-avoid [2014, March 23].