โรคไบโพลาร์ อารมณ์สองขั้ว (ตอนที่ 3)

คนที่เป็นไบโพลาร์อาจจะมีอารมณ์ 2 ขั้วในเวลาเดียวกัน นั่นก็คือ อาจรู้สึกปั่นป่วนมาก นอนไม่หลับ มีการเปลี่ยนแปลงในความยากอาหาร และมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย มีความรู้สึกเศร้าหรือสิ้นหวัง ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ามีพลังมากมาย

บางครั้งคนที่มีอาการรุนแรงอาจจะมีอาการโรคจิต (Psychotic symptoms) เช่น เห็นภาพหลอน (Hallucinations) หรือมีอาการหลงผิด (Delusions) หากมีอาการทางจิตตอนที่อยู่ในระยะคลุ้มคลั่ง (Manic episode) ก็อาจหลงคิดว่าตัวเองเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีเงินเป็นจำนวนมาก หรือมีพละกำลังมาก

แต่ถ้ามีอาการทางจิตตอนที่อยู่ในระยะซึมเศร้า (Depressive episode) ก็อาจหลงคิดว่าตัวเองเป็นคนยากจนหรืออาจก่ออาชญากรรมได้ ทั้งนี้อาการไบโพลาร์เหล่านี้สามารถทำให้การวิเคราะห์โรคสับสนกับโรคจิตเภท (Schizophrenia) ได้

คนที่เป็นไบโพลาร์อาจติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด มีความสัมพันธ์ที่แย่กับคนรอบข้างทั้งที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน คนที่เป็นไบโพลาร์มักจะเป็นตลอดชีวิต สลับไปมาระหว่าง 2 ขั้ว หรือบางคนอาจมีอาการอ้อยอิ่ง (Lingering symptoms) ระหว่างที่ไม่ได้มีอาการขั้วใดขั้วหนึ่ง

ไบโพลาร์เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ทุกเชื้อชาติ ทุกชนชั้น มักเริ่มเป็นในวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ใหญ่ตอนต้น อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของคนที่เป็นเริ่มมีอาการก่อนอายุ 25 ปี และบางคนก็มีอาการตั้งแต่เด็ก ทั้งนี้มีชาวอเมริกันมากกว่า 10 ล้านคนที่เป็นโรคไบโพลาร์

ไบโพลาร์มีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่

  1. ไบโพลาร์ชนิดที่ 1 (Bipolar I Disorder) —มีลักษณะเป็นแบบคลุ้มคลั่งหรือแบบผสมอย่างน้อย 7 วัน หรือเป็นแบบคลุ้มคลั่งที่รุนแรงซึ่งต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลทันทีทันใด แต่หากเป็นแบบซึมเศร้าก็มักจะเป็นอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  2. ไบโพลาร์ชนิดที่ 2 (Bipolar II Disorder)—มีลักษณะเป็นแบบซึมเศร้าและแบบคลุ้มคลั่งระดับต่ำ (Hypomanic episodes) อาการไม่สุดโต่ง
  3. ไบโพลาร์ชนิด Bipolar Disorder Not Otherwise Specified (BP-NOS)—มีลักษณะอาการผิดปกติแต่ไม่สามารถตรวจพบได้ว่าเป็นไบโพลาร์ชนิดที่ 1 หรือ ชนิดที่ 2
  4. ไบโพลาร์ชนิด Cyclothymic Disorder หรือ Cyclothymia—มีลักษณะเป็นไบโพลาร์ชนิดอ่อนๆ คนที่เป็นไบโพลาร์ชนิดนี้จะเป็นทั้งแบบคลุ้มคลั่งและซึมเศร้าอ่อนๆ อย่างน้อย 2 ปี
  5. ไบโพลาร์ชนิดรุนแรงที่เรียกว่า Rapid-cycling Bipolar Disorder ซึ่งคนที่เป็นจะมีอาการ 4 แบบด้วยกันภายในระยะเวลา 1 ปี กล่าวคือ มีอาการซึมเศร้า (Depression) อาการคลุ้มคลั่ง (Mania) อาการคลุ้มคลั่ง ระดับต่ำ (Hypomania) หรืออาการผสม (Mixed states) โดยประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยจะเป็นไบโพลาร์ชนิดนี้ ซึ่งมักพบในคนที่เป็นไบโพลาร์ตั้งแต่อายุน้อย และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

แหล่งข้อมูล:

  1. Bipolar Disorder. http://www.nimh.nih.gov/health/topics/bipolar-disorder/index.shtml [2014, March 21].