“ชิคุนกุนยา” โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ตอนที่ 1)

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย-1

      

      นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกและกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในช่วงนี้พื้นที่ภาคใต้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมขังตามท้องถนนและภาชนะต่างๆ อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ทำให้ประชาชนเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

      โดยสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 พฤศจิกายน 2561 พบผู้ป่วยทั้งหมด 642 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 638 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับ คือ นราธิวาส 218 ราย สตูล 213 ราย สงขลา 157 ราย ตรัง 21 ราย และ ภูเก็ต 11 ราย

      นายแพทย์อัษฎางค์ อธิบายว่า โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ จะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก

      โดยลักษณะอาการคือ มีไข้ ออกผื่นและมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดง เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อแขนขา อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา หากประชาชน มีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว

      นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1. เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3. เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

      ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

      โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นตัวแพร่เชื้อมายังคน (สองสายพันธุ์ที่โดดเด่นได้แก่ ยุง Aedes aegypti และยุง Aedes albopictus) แต่ไม่พบการติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง มีการแพร่ระบาดครั้งแรกที่แทนซาเนีย ในปี พ.ศ.2495 ต่อมาพบที่แอฟริกา เอเชีย ยุโรป และเกาะในเขตมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก โดยในปี พ.ศ.2556 ได้พบการแพร่ระบาดเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาที่หมู่เกาะแคริบเบียน

      อาการมักเกิดใน 3-10 วัน หลังถูกยุงกัด และสามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ในขณะที่บางคนอาจมีอาการปวดข้อนานแรมเดือนหรือแรมปี แต่ไม่ค่อยพบการเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนของโรคชิคุนกุนยา อย่างไรก็ดี บางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงในเด็กแรกเกิดและผู้ป่วยสูงอายุที่ป่วยเรื้อรัง เช่น เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น

      อาการของโรคชิคุนกุนยาจะคล้ายกับอาการของไข้เด็งกี (Dengue) และ ไข้ซิกา (Zika) โดยอาการโดยทั่วไป ได้แก่

  • เป็นไข้
  • ปวดข้อ (Arthralgias) ข้อบวม
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ

แหล่งข้อมูล:

  1. กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังป่วยด้วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แนะยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”. https://ddc.moph.go.th/th/site/newsview/view/1491 [2018, December 1].
  2. What is chikungunya fever, and should I be worried? https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/infectious-diseases/expert-answers/what-is-chikungunya-fever/faq-20109686 [2018, December 1].
  3. Chikungunya Virus. https://www.cdc.gov/chikungunya/index.html [2018, December 1].
  4. Chikungunya.http://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/chikungunya [2018, December 1].