“โรคเอ็มซีเอส” โรคของคนขี้แพ้ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

โรคเอ็มซีเอส

ทั้งนี้ มีคำแนะนำในการลดความเสี่ยงในการเป็นโรค MCS ด้วยการลดมลพิษปนเปื้อนทางอากาศ (Air pollutants) ในบ้าน ดังนี้

  • อย่านำสัตว์เลี้ยงมานอนในห้องนอน
  • อย่าสูบบุหรี่ในบ้าน
  • ควรใช้พื้นไม้หรือกระเบื้องแทนการปูพรม
  • หากมีการปลูกต้นไม้ในบ้าน ให้ระวังเรื่องเชื้อราในดิน หากพบควรย้ายไปไว้นอกบ้าน
  • พยายามดูแลห้องครัว ห้องน้ำ ให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องตกแต่งบ้านที่มีสารฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde)

    [ไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮด์มีอยู่ใกล้ตัว ภายในบ้านที่ทาแลคเกอร์เคลือบพื้นไม้ ปูพรมที่พื้น ติดวอลล์เปเปอร์ที่ผนัง อยู่ในเครื่องเรือนที่ใช้ไม้อัดและวัสดุที่เรียกว่า พาร์ทิเคิล บอร์ด (Particle board) ที่ใช้ในการทำตู้ โต๊ะ และเครื่องเรือนต่างๆ ผ้าม่าน ฟูกที่นอน และเสื้อประเภทรีดง่ายแต่ยับยาก ฟอร์มัลดีไฮด์ที่อยู่ในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สามารถระเหยออกมาอยู่ในอากาศให้เราได้สูดดมเข้าไป

    ไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮด์ ถ้าเกิน 0.1 ส่วนในล้านส่วน (ppm) จะสามารถสร้างความระคายเคืองทั้งต่อเยื่อบุตา เยื่อบุจมูก และทางเดินหายใจ หากความเข้มข้นสูงมากๆ ตั้งแต่ 100 ppm ขึ้นไป ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่หากมีการสัมผัสถูกสารละลายโดยตรงทางผิวหนัง จะทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ เกิดอาการคันทันที]

  • ควรระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สีทาบ้าน ยาฆ่าแมลง ภายในบ้าน หากต้องใช้ให้เปิดพัดลมเพื่อระบายอากาศถ่ายเทออกไปนอกบ้าน และหลีกเลี่ยงการใช้สีที่มีสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compounds = VOCs)

    [สาร VOCs เป็นสารเคมีที่สำคัญในผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนต้องใช้ในครัวเรือนหลายประเภท เช่น ทินเนอร์ สารทำความสะอาด น้ำมันหล่อลื่น ควันบุหรี่ สีทาบ้าน น้ำยาฟอกสี น้ำยาซักแห้ง ยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่สารที่เกิดจากการเผาไหม้

    สาร VOCs มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ระเหยเป็นไอได้ง่ายที่อุณหภูมิและความดันปกติ ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ยังสามารถแฝงตัวอยู่ในอาหารและแหล่งน้ำด้วย]

  • พยายามใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นธรรมชาติ เช่น น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว เป็นต้น
  • ทำบ้านให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • ทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศภายในเครื่องปรับอากาศ (Air conditioner filters) ทุก 2-3 เดือน
  • ติดตั้งพัดลมดูดอากาศในห้องครัวและห้องน้ำเพื่อระบายอากาศออก

แหล่งข้อมูล

1. Environmental Illness - Topic Overview. http://www.webmd.com/allergies/tc/environmental-illness-overview[2015, December 2].