โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

อ.นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ ประธานธาลัสซีเมีย รพ.ศิริราช กล่าวว่า แม้โรคนี้จะอยู่ในกลุ่มโรคทางพันธุกรรม แต่สามารถป้องกันและรักษาได้หากทุกฝ่ายช่วยกัน ในขณะที่ รศ.นพ.วิปร วิประกษิต กรรมการอำนวยการศูนย์ธาลัสซีเมีย กล่าวว่า ขณะนี้มีการวิจัยพัฒนายีนบำบัด โดยใช้สเต็มเซลล์ในการรักษา แต่อยู่ระหว่างวิจัย โดยร่วมกับทีมวิจัยสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มทำการวิจัยในผู้ป่วยคนไทยคนแรกในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2557 และคาดว่าการรักษานี้จะสำเร็จเป็นที่ยอมรับไม่เกิน 10 ปี

วิธีการรักษาธาลัสซีเมียขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงที่เป็น โดยการรักษาอาการระดับอ่อนอาจใช้การเปลี่ยนถ่ายเลือด (Blood transfusions) และการกินโฟเลต (Folate) ส่วนการการรักษาอาการระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรงนั้นอาจทำโดย

  • การเปลี่ยนถ่ายเลือด ยิ่งรุนแรงมากยิ่งต้องถ่ายเลือดทุก 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ดีการถ่ายเลือดอาจเป็นสาเหตุให้มีธาตุเหล็กมากเกิน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อหัวใจ ตับ และระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine system) ดังนั้นขณะที่มีการเปลี่ยนถ่ายเลือดห้ามกินอาหารเสริมธาตุเหล็ก เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดธาตุเหล็กในร่างกายที่มากเกินไปซึ่งเป็นอันตรายได้

    ทั้งนี้ คนที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดมากจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีคีเลชั่นบำบัด (Chelation therapy) เพื่อขับธาตุเหล็กส่วนเกินออกจากร่างกาย

    [คีเลชั่นบำบัด (Chelation therapy) คือ การล้างพิษหลอดเลือดผ่านทางน้ำเกลือ ที่มีสารประกอบประเภทกรดอะมิโนที่เรียกว่า (Ethyline Diamine Tetra Acetie Acid = EDTA) ผสมกับวิตามินและแร่ธาตุ ซึ่ง EDTA จะทำหน้าที่สำคัญในการจับสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ ผนังเซลล์และผนังหลอดเลือด ก่อนที่จะละลายสารโลหะหนักเหล่านั้น และขับออกจากสารกระแสเลือดไปยังไต และออกจากร่างกายไปในที่สุด]

  • การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stem cell transplant) หรือที่เรียกว่า การปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง และก่อนการปลูกถ่ายจะต้องกินยาเป็นจำนวนมาก หรือฉายรังสีเพื่อทำลายไขกระดูกที่น้อยลง หลังจากนั้นจึงค่อยรับสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่เข้ากันได้ (Well-matched donor) อย่างไรก็ดีเนื่องจากขั้นตอนนี้มีความเสี่ยงอย่างสูงซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงใช้รักษาเฉพาะคนที่อาการหนักและมีผู้บริจาคที่เข้ากันได้อย่างพี่หรือน้อง
นอกจากนี้คนที่เป็นธาลัสซีเมียต้องดูแลตนเองโดย
  • หลีกเลี่ยงธาตุเหล็กที่มากเกินไป ไม่ควรกินวิตามินหรืออาหารเสริมใดที่มีธาตุเหล็ก ยกเว้นกรณีแพทย์สั่ง
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อทำให้มีแรงและมีสุขภาพสมบูรณ์ กรณีนี้แพทย์อาจสั่งให้กินอาหารเสริมกรดโฟลิค (Folic acid supplement) เพื่อช่วยให้ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่ นอกจากนี้ควรรักษากระดูกให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ด้วยการล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงคนป่วย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับกรณีที่มีการตัดม้ามทิ้งไปแล้ว นอกจากนี้อาจต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส (Pneumococcal) และ โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) ทุกปี

แหล่งข้อมูล:

  1. รพ.ศิริราชสุดเจ๋ง คว้ารางวัลศูนย์ธาลัสซีเมียโลก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000137473&Keyword=%b8%d2%c5%d1%ca%ab%d5%e0%c1%d5%c2 [2013, November 26].
  2. Thalassemia. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0001613/ [2013, November 25].
  3. Thalassemia. http://www.mayoclinic.com/health/thalassemia/DS00905 [2013, November 25].