โรคเรื้อรัง จริงจังการเบิกจ่าย (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า การห้ามเบิกกลูโคซามีน การให้ระบุเหตุผลในการใช้ยานอกบัญชียาหลักเพื่อประกอบการเบิกจ่าย และการที่ต้องลงทะเบียน 1 โรงพยาบาล 1 โรคเรื้อรัง ของกรมบัญชีกลางนั้นไม่มีความเป็นธรรม และอาจถือเป็นการเสียโอกาสในการรักษานั้น โดยจะมีการหารือกันต่อไปว่าจะทำการฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม

มีงานวิจัยบางแห่งที่แนะนำว่า กลูโคซามีนสามารถลดอาการปวดจากข้อเข้าเสื่อมได้ดีพอๆ กับยาแก้ปวดอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือที่รู้จักกันในนามพาราเซตามอล และสามารถใช้ระงับอาการปวดได้พอๆ กับยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs = NSAIDs) ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen ) และยาไพโรซิแคม (Piroxicam)

แต่มีข้อแตกต่างอยู่ตรงที่ระยะเวลาที่ใช้ในการลดอาการปวด กล่าวคือ กลูโคซามีนซัลเฟตจะใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ ในการลดอาการปวด ในขณะที่ยา NSAIDs ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ยังมีงานวิจัยบางแห่งที่ระบุว่ากลูโคซามีนซัลเฟตจะใช้ไม่ได้ผลดีนักในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีอาการมานาน หรือเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้มีน้ำหนักมาก กล่าวคือ ดูเหมือนว่ากลูโคซามีนซัลเฟตจะไม่สามารถใช้ลดอาการปวดได้ในทุกคน บางคนอาจไม่เห็นผล

มีหลักฐานบางอย่างที่บอกว่ากลูโคซามีนช่วยลดอาการปวดตั้งแต่ระดับอ่อนจนถึงระดับปานกลางของโรคข้อกระดูกอักเสบ (Osteoarthritis) ยังมีการใช้กลูโคซามีนในการรักษาโรคไขข้ออักเสบ (Rheumatoid arthritis) และอาการอื่นๆ เช่น อาการอักเสบของโรคลำไส้ โรคหืด (Asthma) และภูมิแพ้ (Allergies)

นอกจากนี้ กลูโคซามีนยังช่วยการรักษาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ความผิดปกติของของกล้ามเนื้อที่ใช้สำหรับเคี้ยวอาหาร (Temporomandibular joint problems = TMJ) อาการปวดหลังเรื้อรัง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของกลูโคซามีนก็ยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด

โดยทั่วไป จะมีการให้ยากลูโคซามีนปริมาณ 500 มิลลิกรัม ในผู้ป่วยเป็นโรคข้อกระดูกอักเสบวันละ 3 ครั้ง โดยให้รับประทานพร้อมอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร แต่ก็มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา (Side effects) อันได้แก่ การระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร อาการคลื่นไส้ (Nausea) อาการจุกเสียดท้อง (Heartburn) อาการท้องเสีย (Diarrhea) และอาการท้องผูก (Constipation)

ส่วนอาการที่ปรากฏให้เห็นได้น้อย ก็มีอาการเซื่องซึม (Drowsiness) ผิวหนังมีปฏิกิริยาขึ้นผื่น และอาการปวดหัว ทั้งนี้ เนื่องจากอาหารเสริมกลูโคซามีนทำจากเปลือกของสัตว์น้ำประเภทที่มีเปลือก ดังนั้นจึงอาจทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ที่แพ้สารเหล่านั้นได้

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคเลือดไหลไม่หยุด ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เช่นเดียวกับผู้ที่ใช้ยาโรคหัวใจ อินซูลิน (Insulin) ยาที่ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก (Blood thinners) และยาลดปัสสาวะ (Diuretics) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยากลูโคซามีน นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้กลูโคซามีนซัลเฟตในเด็ก หญิงมีครรภ์ หรือหญิงกำลังให้นมบุตร

แหล่งข้อมูล:

  1. จับกระแสต้าน พลิกประวัติศาสตร์การควบคุมค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000131795&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, November 11].
  2. Vitamins and Supplements Lifestyle Guide. http://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/lifestyle-guide-11/supplement-guide-glucosamine [2012, November 11].
  3. Glucosamine (GLUCOSAMINE SULFATE) Overview Information. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-807-Glucosamine+GLUCOSAMINE+SULFATE.aspx?activeIngredientId=807&activeIngredientName=Glucosamine+%28GLUCOSAMINE+SULFATE%29&source=2&tabno=1 [2012, November 11].