โรคเรื้อรัง จริงจังการเบิกจ่าย (ตอนที่ 2)

นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวว่า การควบคุมกำกับการสั่งยา 9 กลุ่มหลักที่เฝ้าระวังนั้น ได้เลือกกลูโคซามีนหรือยารักษาอาการข้อเข่าเสื่อมขึ้นมาทำก่อน เพราะมีข้อถกเถียงกันเรื่องประสิทธิผลและความคุ้มค่า และสหรัฐอเมริกาก็จัดเป็นแค่อาหารเสริม หลายประเทศก็ไม่ให้เบิกในระบบหลักประกันสุขภาพ

สำหรับข้อกำหนดในการใช้ยากลูโคซามีน นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า หลังจากทำการศึกษาแล้วพบว่าเป็นเพียงอาหารเสริม จึงมีคำสั่งให้ส่วนราชการยกเลิกใช้ยานอกในการรักษานั้น ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงเดินหน้าไปเหมือนเดิมในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เพราะกลุ่มยาดังกล่าวใช้งบสูงถึงปีละ 900 ล้านบาท

กลูโคซามีน (Glucosamine) เป็นส่วนประกอบของเคมีธรรมชาติที่พบได้ในร่างกาย ช่วยทำให้กระดูกอ่อนของข้อต่อมีความสมบูรณ์ แต่โดยธรรมชาติระดับของกลูโคซามีนในร่างกายมนุษย์จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการเสื่อมของข้อทีละเล็กละน้อย ดังนั้นจึงมีการผลิตกลูโคซามีนให้เป็นอาหารเสริมเพื่อลดความเจ็บปวดของข้อที่เกิดจากโรคปวดข้อ (Arthritis)

กลูโคซามีนตามธรรมชาติสามารถจะพบได้ในเปลือกของสัตว์น้ำประเภทที่มีเปลือก กระดูกสัตว์ และไขกระดูก ในสหรัฐอเมริกาถือว่า กลูโคซามีน เป็นอาหารเสริมชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่วิตามิน ไม่ใช่เกลือแร่ และนิยมใช้กันเป็นอย่างมาก แต่อาหารเสริมกลูโคซามีนที่มีจำหน่ายนั้นอาจไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่อาจเป็นสารที่ผลิตขึ้นในห้องแล็บ

กลูโคซามีนมีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เช่น D-Glucosamine, D-Glucosamine Sulfate Amino Monosaccharide, Chitosamine Glucosamine Potassium Sulfate, Glucosamine Sulphate เป็นต้น โดยชื่อที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ Glucosamine Sulphate

ระหว่างข้อต่อ จะมีของเหลวและกระดูกอ่อนเพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อเป็นไปได้อย่างสะดวก แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อกระดูกอักเสบ (Osteoarthritis) กระดูกอ่อนจะแตกและบางลง ทำให้เกิดการเสียดสีของข้อต่อ เกิดอาการปวดและเมื่อย นักวิจัยบางรายคิดว่าการรับประทานอาหารเสริมกลูโคซามีนจะช่วยเพิ่มของเหลวและกระดูกอ่อนบริเวณรอบข้อต่อได้

แต่นักวิจัยบางรายก็คิดว่าซัลเฟตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลูโคซามีนน่าจะเป็นสาระสำคัญในการสร้างกระดูกอ่อนมากกว่า ดังนั้นนักวิจัยเหล่านี้จึงเชื่อว่ากลูโคซามีนซัลเฟต น่าจะดีกว่ากลูโคซามีนชนิดอื่นซึ่งไม่มีส่วนผสมของซัลเฟต เช่น Glucosamine hydrochloride หรือ N-acetyl glucosamine (NAG)

กลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine sulfate) เป็นที่นิยมใช้ในการรักษาโรคปวดข้อ (Arthritis) โดยเฉพาะโรคข้อกระดูกอักเสบ (Osteoarthritis) อาหารเสริมกลูโคซามีนมักมีส่วนประกอบอื่นร่วมด้วย เช่น คอนโดรอิทิน ซัลเฟต (Chondroitin sulfate) MSM หรือ กระดูกอ่อนปลาฉลาม (Shark cartilage)

นอกจากนี้ยังมีการใช้กลูโคซามีนในครีมผิวหนังบางชนิดเพื่อลดอาการเจ็บปวดของข้อ โดยมีส่วนผสมของการบูร (Camphor) และอื่นๆ อย่างไรก็ดีนักวิจัยเชื่อว่า การลดอาการปวดโดยทาครีมแล้วหายนั้น ไม่น่าจะเป็นผลของกลูโคซามีน แต่น่าจะเป็นเพราะส่วนผสมอื่นที่อยู่ในครีมนั้น ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ระบุว่ากลูโคซามีนสามารถซึมผ่านผิวหนังได้

แหล่งข้อมูล:

  1. จับกระแสต้าน พลิกประวัติศาสตร์การควบคุมค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000131795&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, November 9].
  2. Vitamins and Supplements Lifestyle Guide. http://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/lifestyle-guide-11/supplement-guide-glucosamine [2012, November 10].
  3. Glucosamine. http://en.wikipedia.org/wiki/Glucosamine [2012, November 107].
  4. Glucosamine (GLUCOSAMINE SULFATE) Overview Information. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-807-Glucosamine+GLUCOSAMINE+SULFATE.aspx?activeIngredientId=807&activeIngredientName=Glucosamine+%28GLUCOSAMINE+SULFATE%29&source=2&tabno=1 [2012, November 10].