โรคเรื้อรัง จริงจังการเบิกจ่าย (ตอนที่ 1)

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า หลังจากกรมบัญชีกลางส่งหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการต่างๆ ในการเดินหน้าโครงการ 1 โรคเรื้อรัง 1 โรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับยารักษาไม่ซับซ้อน สะดวกต่อการบริหารจัดการในการเบิกจ่ายตรง โดยให้ข้าราชการลงทะเบียนภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 และเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2555 นััั้น

ปรากฏว่ามีข้อเรียกร้องจากกรรมาธิการของสภา กระทรวงสาธารณสุข ผู้ป่วย และข้าราชการระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิจำกัดการรักษา เพราะข้อกำหนดตายตัว อาจเปลี่ยนโรงพยาบาลไม่ได้ คณะกรรมการบริหารสวัสดิการจึงได้ประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวและ เห็นชอบร่วมกันให้ขยายเวลาออกไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งยังไม่พร้อม ซึ่งรวมถึงระบบคอมพิวเตอร์

โครงการ 1 โรคเรื้อรัง 1 โรงพยาบาล เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาและการบริการสาธารณสุขที่จำเป็นตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และเป็นการดูแลผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อกำหนดว่า

ผู้มีสิทธิ คือ ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและเคยเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องกับสถานพยาบาลอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เช่น โรคเบาหวานที่ต้องใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาล โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องใช้ยาควบคุม โรคหัวใจที่ผู้ป่วยเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเคยมีภาวะหัวใจวาย (Myocardial infarction) หรือหัวใจล้มเหลว (Heart failure) อย่างน้อย 1 ครั้งมาก่อน หรือโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) ที่มีผลการตรวจยืนยันชัดเจน โรคอัมพฤกษ์หรือโรคอัมพาตที่มีสาเหตุจากพยาธิสภาพของเส้นเลือดในสมองไม่ว่าจะเป็นการตีบตัน (Ischemic stroke) หรือการแตก (Hemorrhagic stroke) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Aids) เป็นต้น

โดยให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เลือกลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงกับสถานพยาบาลเพื่อเป็นสถานพยาบาลประจำตัวสำหรับรักษาโรคเรื้อรังได้เพียง 1 แห่ง ต่อ 1 โรคเรื้อรัง หรือ 1 แห่ง ต่อทุกโรคเรื้อรัง

สำหรับการเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังนั้น ให้สถานพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรง ไม่ให้สถานพยาบาลออกใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยนำไปเบิกกับต้นสังกัดได้อีก

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้พิจารณาข้อดี ข้อด้อย ผลกระทบต่อผู้ป่วยและสถานพยาบาล รวมทั้งการประเมินความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่จะกำหนดมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายยาพบว่า กลุ่มรายการยาที่มีมูลค่าการสั่งใช้ยาค่อนข้างสูงและเป็นรายการยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมทั้งรายการยาที่มีราคาแพงและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีการสั่งใช้ยาไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มยาลดการเป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  2. กลุ่มยาต้านอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์
  3. กลุ่มยาลดไขมันในเลือด
  4. กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง
  5. กลุ่มยาลดความดันโลหิต
  6. กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด
  7. ยาลดอาการข้อเข่าเสื่อม
  8. ยาป้องกันโรคกระดูกพรุน
  9. กลุ่มยารักษามะเร็ง

แหล่งข้อมูล:

  1. จับกระแสต้าน พลิกประวัติศาสตร์การควบคุมค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000131795&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, November 9].
  2. หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว 115 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2555 http://203.157.150.5/hospital/images/stories/115.pdf [2012, November 9].