โรคเมลิออยด์ โรคฮิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 4)

นพ. ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อัตราการตายของโรคเมลิออยด์ (Melioidosis) ในขณะนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 โดยเฉพาะภาคอีสานมีอัตราการตายสูงที่สุด

ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่มีผลตรวจวิเคราะห์ (Laboratory) ยืนยัน 2,000 ราย คาดว่าตัวเลขผู้ป่วยน่าจะมากกว่านี้ เพราะยังทีจำนวนผู้ป่วย ส่วนหนึ่งที่เพาะเชื้อไม่ขึ้น และร้อยละ 25 ของผู้ป่วยอาจไม่พบอาการของการติดเชื้อและต้องวินิจฉัยโดยอาศัยการเพาะเชื้อจากเลือดหรือการป้ายคอ

อาจกล่าวได้ว่าโรคเมลิออยด์สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้กับอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ยกเว้นลิ้นหัวใจ (Endocarditis) และแม้ว่าจะพบผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ที่เกิดภายหลังจากฝีในสมองแตก แต่ไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองโดยตรง

อาการที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่ การติดเชื้อในหลอดเลือด (Intravascular infection) ฝีในต่อมน้ำเหลือง (Lymph node abscesses) ซึ่งพบร้อยละ 1.2 - 2.2 เยื่อหุ้มหัวใจเป็นหนอง (Pyopericardium) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) การติดเชื้อในอวัยวะคั่นระหว่างปอด (Mediastinum) ฝีในต่อมไทรอยด์และถุงอัณฑะ และการติดเชื้อในดวงตา

สำหรับโรคเมลิออยด์ชนิดเรื้อรังมักมีอาการนานกว่า 2 เดือน และพบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วย โดยอาการแจมีการเปลี่ยนแปลงได้หลากหลาย ซึ่งรวมถึง อาการติดเชื้อที่ผิวหนังเรื้อรัง แผลที่ผิวหนัง (Skin ulcers) ก้อนในปอด (Lung nodules) หรือปอดอักเสบเรื้อรัง (Chronic pneumonia)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง อาการดังกล่าว ใกล้เคียงกับวัณโรค (Tuberculosis) จนบางครั้งก็เรียกโรคนี้ว่า "วัณโรคเวียดนาม" (Vietnamese tuberculosis) นอกจากนี้โรคเมลิออยด์ชนิดเรื้อรังอาจแสดงอาการคล้ายวัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ (Tuberculous pericarditis) ได้

การวินิจฉัยยืนยันโรคเมลิออยด์นั้นทำได้ด้วยการเพาะเชื้อจากร่างกาย การสอบถามเรื่องประวัติการสัมผัสดินอาจไม่ได้ผลเพราะโรคเมลิออยด์อาจแฝงอยู่เป็นเวลาหลายปีกว่าจะแสดงอาการ แต่อาจทราบจากการซักประวัติการเดินทางไปยังบริเวณพื้นที่ที่มีโรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่น

ควรทำการตรวจคัดกรองการติดเชื้อในทุกส่วนของผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้อโรคเมลิออยด์ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเชื้อจากเลือด จากปัสสาวะ การป้ายคอ และการเพาะเชื้อจากหนองที่ดูดมาได้ (Aspirated pus) ซึ่งสามารถยืนยันการวินิจฉัยด้วยการเพาะและพบเชื้อ B.pseudomallei

การวินิจฉัยโรคเมลิออยด์ไม่สามารถทำได้โดยอาศัยวิธีทางรังสี เพียงอย่างเดียว แต่วิธีการทางรังสีมักถูกใช้เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค กล่าวคือ แพทย์จะแนะนำให้ทำภาพรังสีของช่องท้องโดยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scans) หรือตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) เนื่องจากฝีของอวัยวะภายในอาจไม่ได้แสดงอาการออกมาชัดเจน

นอกจากนี้ยังอาจพบฝีเกิดร่วมกับโรคที่บริเวณอื่น เพราะโรคเมลิออยด์อาจแสดงอาการเหมือนลักษณะการติดเชื้ออื่นๆ เช่น วัณโรค ดังนั้นจึงต้องอาศัยการวินิจฉัยแยกโรคหลายวิธีร่วมกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. โรคเมลิออยด์ - คุณหมอขอบอก - http://www.dailynews.co.th/article/1490/172361 [2013, June 13].
  2. Melioidosis. - http://en.wikipedia.org/wiki/Melioidosis [2013, June 13].