โรคเมลิออยด์ โรคฮิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 3)

นพ. ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล ภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต่อว่า “การวินิจฉัยโรค [เมลิออยด์ (Melioidosis)] นี้ ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะอาการไม่จำเพาะ กล่าวคือ มีไข้สูง โลหิตเป็นพิษ มันเป็นเชื้ออะไรก็ได้ หมอจึงมักพูดว่า โลหิตเป็นพิษติดเชื้อ แม้ว่าปัจจุบันหมอจะรู้จักโรคนี้ดี ห้องปฏิบัติการก็รู้จักดี แต่คนไข้เท่านั้นที่ยังไม่รู้

ดังนั้น พอคนไข้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากการวินิจฉัยยาก กว่าจะยืนยันผลได้ว่าเป็นโรคนี้อาจต้องใช้เวลานานถึง 7 วัน อีกทั้งไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์โรคนี้ ประชาชนจึงไม่ค่อยรู้

โรคเมลิออยด์ชนิดเฉียบพลัน มีระยะฟักตัวตั้งแต่ 1 - 21 วัน โดยระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 9 วัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเมลิออยด์ชนิดแอบแฝงอาจไม่แสดงอาการเลยได้หลายสิบปี โดยสันนิษฐานว่าระยะเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงระยะปรากฏอาการที่นานที่สุด เท่าที่มีรายงานคือ 62 ปี

ทั้งนี้เป็นข้อมูลจากเหล่าทหารอเมริกันที่เคยอยู่ในสมรภูมิสงครามเวียดนามที่ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก หลังกลับจากสมรภูมิรบหลายสิบปี จนโรคนี้ได้รับการขนานนามว่า "ระเบิดเวลาเวียดนาม" (Vietnam time-bomb) นอกจากนี้ยังพบอาการสมองและไขสันหลังอักเสบ (Encephalomyelitis syndrome) ได้ในตอนเหนือของออสเตรเลีย

ความรุนแรงของโรคเมลิออยด์มีได้หลากหลาย ในผู้ป่วยเรื้อรังอาจแสดงอาการได้นานเป็นเดือน แต่ผู้ป่วยที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงและรวดเร็ว (Fulminant infection) จากภาวะใกล้จมน้ำ (Near-drowning) อาจแสดงอาการรุนแรงได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ชนิดเฉียบพลันมักมีอาการไข้ อาการปวดหรืออาการอื่นๆ ที่อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อได้ โดยพบในผู้ป่วยร้อยละ 75 อาการอื่นๆ ได้แก่ อาการไอหรือเจ็บหน้าอกเนื่องจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritic chest pain) อาการปวดกระดูกหรือข้อ อาจบ่งถึงภาวะกระดูกอักเสบจากการติดเชื้อ (Osteomyelitis)

นอกจากนี้ ยังอาจบ่งถึงข้ออักเสบจากติดเชื้อ (Septic arthritis) หรือเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) และเนื่องจากการติดเชื้อในช่องท้อง เช่น ฝีในตับ ม้าม หรือต่อมลูกหมาก มักไม่แสดงอาการปวดเฉพาะที่ จึงควรทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) หรือการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

ความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยในออสเตรเลียและในเอเชียตะวันออกเฉียงให้ที่เห็นได้ชัดก็คือ การเป็นฝีที่ต่อมน้ำลายพาโรติด (Parotid abscesses) จะพบประมาณร้อยละ 40 ในเด็กไทยและกัมพูชา ในขณะที่อาการนี้ไม่ค่อยพบในผู้ป่วยออสเตรเลีย

ในทางกลับกัน การเป็นฝีที่ต่อมลูกหมาก (Prostatic abscesses) พบได้ถึงร้อยละ 20 ของผู้ป่วยชายชาวออสเตรเลีย แต่ไม่พบรายงานในที่อื่น โดยที่ประชากรกลุ่มเสี่ยงของโรคเมลิออยด์ ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน (ร้อยละ 23 - 60 ของผู้ป่วย) มีการดื่มแอลกอฮอล์มาก (ร้อยละ 12 - 39 ของผู้ป่วย)

นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงยังรวมถึงผู้เป็ฯโรคปอดเรื้อรัง (ร้อยละ 12 - 27 ของผู้ป่วย) โรคไต (ร้อยละ 10 - 27 ของผู้ป่วย) และโรคทาลัสซีเมีย (ร้อยละ 7 ของผู้ป่วย) และมักจะมีประวัติอาชีพหรืองานที่สัมผัสกับโคลนหรือน้ำ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่แข็งแรงรวมทั้งเด็ก ก็อาจเป็นโรคนี้ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. โรคเมลิออยด์ - คุณหมอขอบอก - http://www.dailynews.co.th/article/1490/172361 [2013, June 13].
  2. Melioidosis. - http://en.wikipedia.org/wiki/Melioidosis [2013, June 13].
  3. Melioidosis. - http://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMra1204699 [2013, June 13].