โรคเครียดจากการเมือง (ตอนที่ 1)

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนแบบโฟกัสกรุ๊ป ต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งในพื้นที่ชุมนุมกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ และครอบครัวที่นำบุตรหลานเข้าร่วมชุมนุม จำนวน 160 คน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า ในภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี

กลุ่มอาการเครียดจากการเมือง (Political Stress Syndrome = PSS) ไม่ใช่โรคที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต แต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่มีความสนใจปัญหาทางการเมือง ติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หรือเอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

จนทำให้มีอาการทางกาย จิตใจ และกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีความรู้สึกวิตกกังวล หรือกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคต (Anticipatory Anxiety) เช่น กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเหมือนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นพฤษภาทมิฬ มหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์รุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

โดยเฉพาะคนที่คลั่งไคล้การเมือง คอยติดตามข่าวสารและได้รับข้อมูลการวิเคราะห์เจาะลึกอยู่เนืองๆ ทั้งข้อมูลที่ผ่านและไม่ผ่านการกลั่นกรอง ซึ่งปัจจุบันพบว่า เกิดกลุ่มอาการดังกล่าวชัดเจนที่สุดในรอบ 30 ปี กับประชากร 1 ใน 4 ของประเทศ โดยบุคคลที่มีความเสี่ยงประกอบด้วย

  1. กลุ่มนักการเมือง
  2. กลุ่มสนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย
  3. กลุ่มผู้ติดตาม
  4. กลุ่มผู้สนใจข่าวสารการเมือง
  5. กลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพจิต

ลักษณะของอาการอาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ อาการทางร่างกาย ทางใจ และทางพฤติกรรม กล่าวคือ

  1. อาการทางร่างกาย จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอหรือตามแขน ขา นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพปกติ หายใจไม่อิ่ม อึดอัดในช่องท้อง แน่นท้อง ปวดท้อง ชาตามร่างกาย
  2. อาการทางใจ จะมีความวิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่าน หรือหมกมุ่นมากเกินไป
  3. ปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น เช่น มีการโต้เถียงกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัว โดยใช้อารมณ์ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง โดยไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ มีการลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อตอบโต้ มีการเอาชนะทางความคิดกับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพอย่างรุนแรง

แหล่งข้อมูล:

  1. ม็อบล้มระบอบทักษิณไร้เครียดกังวล เหตุพบเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้าน “แม้ว” - http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000146345 [2013, December 8].
  2. สุขภาพจิตกับวิกฤตการเมือง http://www.social.dmh.go.th/social/webnew/people/knowledge_view.php?pID=156 [2013, December 8].