โรคเกลียดเสียง: ตอนที่ 2 และเป็นตอนจบ

โรคเกลียดเสียง-2

      

      เมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้พูดถึงโรคเกลียดเสียง (Misophonic) ว่าเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อเสียงบางประเภท ตอนที่ 2 นี้ จะกล่าวถึงการรักษา และการอยู่ร่วมกับผู้ที่เป็นโรคเกลียดเสียง ว่าโรคนี้มีวิธีการรักษาอย่างไร และหากคนใกล้ตัวเป็นโรคนี้ เราจะต้องใช้ชีวิตอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น

      แน่นอนว่า สภาวะเกลียดเสียง มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ก็มีวิธีที่จะจัดการกับมันเช่นกัน เช่นการบำบัดด้วยเสียง (Sound therapy) ควบคู่กับการให้คำปรึกษาทางจิตเวช ซึ่งแพทย์จะเปิดเสียงรบกวนพื้นหลังเพื่อต้านเสียงที่ผู้ป่วยมีปฏิกิริยาเกลียดเสียง นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจทดลองใส่เครื่องช่วยฟังที่มีเสียงพื้นหลังเป็นเสียงคล้ายน้ำตก ซึ่งสามารถเบี่ยงเบนความสนใจออกจากเสียงที่ไม่ชอบ ทำให้ปฏิกิริยาต่อเสียงที่เกลียดเบาลงไป หรือการรักษารูปแบบอื่น ๆ เช่น การบำบัดด้วยการพูดคุย และการใช้ยาต้านเศร้า (Anti-depressants)

      วิถีชีวิตก็มีบทบาทอย่างมากเช่นกัน วีธีลดอาการเกลียดเสียงวิธีหนึ่งคือการปรับวิถีชีวิต เช่น นอนพักผ่อน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และบริหารจัดการความเครียด หรืออาจจัดพื้นที่ปลอดเสียงรบกวนในบ้าน เป็นต้น นอกจากนั้น ให้แสวงหาความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคเกลียดเสียงตามสื่อสังคมออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ต ซึ่งมีการนำประสบการณ์มาแบ่งปันกัน เป็นต้น

      การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคเกลียดเสียงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ดร. เจนนิเฟอร์ แกนส์ (Dr. Jennifer Gans) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญการบำบัดโรคเกลียดเสียงกล่าวว่า “เป็นเพราะโรคเกลียดเสียงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้เท่าไรนัก ทำให้ผู้ป่วยและผู้คนรอบข้างเข้าใจผิดกันบ่อยครั้ง ก่อให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจและปฏิกิริยาในหลายระดับ เช่น โกรธ เศร้า สับสน รู้สึกผิด และละอายใจ เป็นภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคเกลียดเสียง”

      สำหรับการจัดการกับภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้นั้น ดร. แกนส์ กล่าวว่า ครอบครัวของผู้ป่วยโรคเกลียดเสียงควรเริ่มต้นด้วยการมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าว เพื่อเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยและช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับเสียงที่ตนเองเกลียดได้

      ส่วนผู้ปกครองมีบุตรหลานเป็นโรคเกลียดเสียง ควรใช้คำอธิบายที่เหมาะสมให้บุตรหลานเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังเผชิญเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องของการทำงานของสมองในการรับรู้เสียงบางเสียง เด็ก ๆ ที่เป็นโรคเกลียดเสียงควรเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ความผิดของใคร หากแต่เป็นความพิเศษส่วนตัวที่ต้องได้รับการบริหารจัดการ เพื่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ดี ๆ

      เมื่อมีความเข้าใจเรื่องโรคเกลียดเสียงแล้ว ก็ถึงเวลาที่คนในครอบครัวจะช่วยกันจัดการกับโรคเกลียดเสียงนี้ ก่อนที่ความสัมพันธ์จะแย่ลง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเข้าใจว่าการที่คนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเกลียดเสียง ไม่ได้หมายความว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นจะต้องแย่ลงไปด้วย

      

แหล่งข้อมูล:

  1. “What Is Misophonia?”https://www.webmd.com/mental-health/what-is-misophonia [December 22, 2018]
  2. “How to Live with a Misophonic” https://www.psychologytoday.com/intl/blog/sounds-awful/201307/how-live-misophonic [December 23, 2018]