โรคเกลียดเสียง (Misophonia) (ตอนที่ 1)

โรคเกลียดเสียง-1

      

      จะเป็นอย่างไรถ้าคุณได้ยินเสียงคนทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ เคี้ยวข้าวเสียงดัง ซดน้ำเสียงดัง หายใจแรง หาว สูดดม ฮัมเพลง เคาะนิ้ว พิมพ์หรือส่งข้อความโดยเปิดเสียงคีย์บอร์ดไว้

      บางท่านอาจรู้สึกรำคาญเมื่อได้ยินเสียงคนเคาะปากกาในห้องประชุม หรือบางครั้งอาจต้องนำนาฬิกาออกไปนอกห้องนอนเพราะเสียงติ๊กต๊อกดังเกินไปกว่าที่จะนอนหลับได้ หากคุณมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรงถึงขั้นต้องหนีหรือหยุดเสียงเหล่านั้นแล้วละก็ คุณอาจเป็น ‘โรคเกลียดเสียง (Misophonia)’

      Misophonia มาจากคำว่า Miso แปลว่าเกลียด และ Phonia แปลว่าเสียง ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า โรคเกลียดเสียง ซึ่งเป็นสภาวะทางประสาทจิตวิทยาที่ผู้ป่วยมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อเสียงบางชนิด ผู้ป่วยมีสติรู้ตัวว่าตนเองตอบสนองต่อเสียงเหล่านั้นเกินกว่าปกติที่ควรเป็น แต่ไม่สามารถควบคุมปฏิกิริยาได้

      ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะวิตกกังวล เพราะจะรู้สึกตื่นตัวมากเพื่อพยายามจะหาที่มาของเสียงต้นเหตุ ทำให้เกิดความเครียดมากพอที่จะทำให้คุณภาพของชีวิตลดลง เสียงที่ทำให้เกิดภาวะเกลียดเสียงจต่างกันขึ้นอยู่กับบุคคล อย่างไรก็ตาม เสียงบางประเภทก็กระตุ้นให้เกิดภาวะเกลียดเสียงมากกว่าเสียงประเภทอื่นๆ เสียงประเภทดังกล่าว ได้แก่ เสียงที่เกิดจากปากหรือการรับประทานอาหาร เสียงที่เกิดจากจมูกหรือการหายใจ และเสียงที่เกิดจากนิ้วหรือมือ ซึ่งภาวะเกลียดเสียงประเภทต่าง ๆ นี้ จะเกิดขึ้นในวัยเด็กและจะเป็นหนักขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น

      การตอบสนองต่อเสียงที่เกลียดมักเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ โดยส่วนใหญ่จะรู้สึกโกรธ ซึ่งมีในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่รู้สึกรำคาญเพียงเล็กน้อยจนถึงโกรธมาก นอกจากนั้น บางคนอาจมีการตอบสนองทางอารมณ์อื่น ๆ ที่รุนแรง เช่น วิตกกังวล หรือขยักขแยง เป็นต้น ส่วนการตอบสนองทางร่างกาย ได้แก่ ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นถี่ขึ้น เหงื่อออก และอาการเกร็งกล้ามเนื้อ

      การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคเกลียดเสียงเป็นสิ่งใหม่ซึ่งเพิ่งเริ่มในช่วงปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา นักวิจัยได้ทำการศึกษาว่าโรคเกลียดเสียงนั้นเกี่ยวข้องกับ หรือเกิดจากสภาพทางกายหรือสภาพทางจิตอื่น ๆ หรือไม่ เช่น โรคเสียงอื้อในหู (Tinnitus) โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive - compulsive disorder) โรคความพฤติกรรมทางการกินผิดปกติ (Eating disorder) และ ภาวะสะเทือนขวัญหลังเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic stress disorder) เป็นต้น ผลการวิจัยพบว่า แม้ว่าจะพบความเชื่อมบางประการระหว่างโรคเกลียดเสียงกับสภาวะต่าง ๆ ดังกล่าว แต่ก็ไม่มีสภาวะผิดปกติใดที่สามารถอธิบายอาการของโรคเกลียดเสียงได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น โรคเกลียดเสียงจึงถือเป็นโรคที่แยกขาดจากสภาวะอื่น ๆ

      เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีงานวิจัยที่พยายามเจาะลึกถึงสาเหตุทางประสาทชีววิทยาของโรคเกลียดเสียง ซึ่งให้ทั้งกลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มผู้ที่แข็งแรงดี (กลุ่มควบคุม) ฟังเสียงกระตุ้น เสียงที่ไม่น่าฟัง (แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเสียงที่กระตุ้นโรคเกลียดเสียง) และเสียงปกติ เสียงกระตุ้นคือเสียงที่มีการรายงานว่าเป็นเสียงที่ผู้ป่วยโรคเกลียดเสียงไม่ชอบ เช่น เสียงกดปากกา เสียงหายใจ และเสียงเคี้ยวอาหาร เป็นต้น เสียงที่ไม่น่าฟัง เช่น เสียงเด็กร้องไห้ หรือเสียงกรีดร้อง และเสียงปกติ เช่น เสียงฝน ไม่ทำให้เกิดการตอบสนองของโรคเกลียดเสียง กลุ่มควบคุมไม่มีการตอบสนองต่อเสียงกระตุ้น ในขณะที่กลุ่มผู้ป่วยไม่มีการตอบสนองต่อเสียงที่ไม่น่าฟังและเสียงปกติ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. “Stop that Noise!” https://www.psychologytoday.com/intl/blog/brain-chemistry/201812/stop-noise [December 16, 2018]
  2. “Hatred of Sounds Should be Recognised as Psychiatric Condition, Say Psychologists” https://www.independent.co.uk/life-style/misophonia-hatred-of-sounds-trigger-recognised-psychiatric-condition-suicide-a8309101.html [December 17, 2018]