โรคหัดเยอรมัน เหมันตภัย

โรคหัดเยอรมัน (Rubella หรือ German measles) ก็เป็นอีกโรคหนึ่งใน 6 โรคที่พึงระวังจากฤดูหนาว ตามประกาศของสำนักระบาดวิทยาโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อันที่จริงโรคนี้พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการไข้ต่ำและออกผื่นคล้ายโรคหัด แต่มีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าโรคหัด สาเหตุที่เรียกว่าโรค “หัดเยอรมัน” ก็เพราะแพทย์ชาวเยอรมัน 2 – 3 คน เป็นผู้ที่อธิบายในกลางศตวรรษที่ 18 ว่า โรคนี้เป็นโรคใหม่ที่แตกต่างจากโรคหัดทั่วไป (Measles) ที่บางคนเรียกว่า “หัดอังกฤษ” (English measles)

ในประเทศไทย เรามีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ”เหือด” โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง ถ้าเป็นในเด็ก มักจะหายได้เองเร็วกว่าถ้าเป็นในผู้ใหญ่ โดยทั่วไปจะไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ถ้าเกิดในในระยะ 20 สัปดาห์แรกในสตรีตั้งครรภ์ เชื้อก็อาจแพร่กระจายเข้าสู่ทารกในครรภ์ ทำให้ทารกพิการได้ตั้งแต่เกิด พร้อมด้วยโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงต่างๆ อาทิต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการ และที่พบบ่อยได้แก่ น้ำหนักตัวน้อยกว่าปรกติ ตับอักเสบ สมองอักเสบ ปัญญาอ่อน ซึ่งความพิการเหล่านี้อาจเกิดร่วมกัน หรือเกิดเพียงอย่างเดียวก็ได้ และอัตราการแท้งบุตรสูงได้ถึง 20%

สาเหตุของโรคนี้เกิดจาก เชื้อหัดเยอรมันซึ่งเป็นไวรัส และอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย ติดต่อได้โดยการไอ จาม หายใจรดกัน เช่นเดียวกับโรคหวัด หรือโรคหัด ระยะฟักตัว 2 ถึง 3 สัปดาห์ แต่มักจะหายได้เองภายใน 3 ถึง 6 วัน โรคนี้มักจะระบาดในชุมชนที่มีคนอยู่จำนวนมาก อาทิ โรงเรียน โรงงาน และที่ทำงาน

อาการมีไข้ต่ำๆ ถึงปานกลาง (อยู่ระหว่าง 37.5 ถึง 38.5 องศาเซลเซียส) ร่วมกับเป็นผื่นเล็กๆ สีชมพูอ่อนๆ กระจายไปทั่ว ผื่นมักจะแยกกันอยู่ชัดเจน เริ่มที่หน้าผาก ชายผม รอบปาก และใบหูก่อนที่อื่น แล้วลงมาที่ลำคอ ลำตัว แขนขา ต่อมน้ำเหลืองจะโต (คลำได้เป็นเม็ดตะปุ่มตะป่ำที่หลังหู หลังคอ และท้ายทอยทั้งสองข้าง) ปวดตามข้อ ปวดศีรษะ และเยื่อตาอักเสบ อาจมีอาการคัน ผื่นมักขึ้นวันเดียวกับที่มีไข้

โดยทั่วไป ผื่นนี้จะจางหายเองอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทิ้งรอยดำให้เห็น บางรายอาจมีผื่นขึ้นโดยไม่มีไข้ บางรายอาจมีอาการแสบเคืองตา เจ็บคอเล็กน้อย ปวดเมื่อยตามตัวแต่ไม่มากนัก ผู้ป่วยบางรายอาจติดเชื้อหัดเยอรมัน แต่ไม่ปรากฏอาการ ส่วนอาการแทรกซ้อน อาจทำให้ข้อนิ้วมือ และนิ้วเท้าอักเสบเล็กน้อย สมองอักเสบอาจพบได้บ้าง

ในการรักษา แพทย์มักรักษาตามอาการ ถ้าพบในเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไปที่ไม่ตั้งครรภ์ อาทิให้ยาลดไข้ (Paracetamol) เป็นยาเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ และเป็นยาชนิดน้ำเชื่อมในเด็ก ในรายที่มีอาการคันให้ยาทาแก้ผื่นคัน (Calamine lotion) ในบริเวณนั้น แต่ถ้าพบในหญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำผู้ป่วยให้ไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจเลือดพิสูจน์ ถ้าเป็นจริง อาจพิจารณาทำแท้งให้ผู้ป่วย

โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนครั้งแรกในตอนอายุ 9 ถึง 15 เดือน โดยฉีดร่วมกับวัคซีนหัดและคางทูม (Measles, mumps and rubella : MMR) สำหรับในท้องที่ห่างไกล ในปัจจุบันนี้ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ ให้ในโรงเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 และนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 ผู้ปกครองที่มีข้อสงสัยบุตรหลานตนเองได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่ ให้ดูจากใบหลักฐานการวัคซีนซีนตั้งแต่แรกเกิด ถ้าไม่มี หรือจำไม่ได้ ควรสอบถามเรื่องวัคซีนตัวนี้กับสถานีอนามัยใกล้บ้าน หรือศูนย์สุขภาพชุมชน

แหล่งข้อมูล:

  1. Rubella. http://en.wikipedia.org/wiki/Rubella [2011, December 9].