โรคหัดติดเชื้อง่าย (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

โรคหัดติดเชื้อง่าย

ปัจจุบัน ยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถทำลายเชื้อหัดได้ อย่างไรก็ดีเราสามารถป้องกันคนที่มีความเสี่ยงได้โดย

  • Post-exposure vaccination – คนที่ไม่มีภูมิต้านทานรวมถึงทารก อาจได้รับวัคซีนหลังการสัมผัสโรคแล้วภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการ หรือหากมีอาการก็จะช่วยให้มีอาการน้อยลงและหายได้เร็วขึ้น
  • Immune serum globulin (ISG) – หญิงมีครรภ์ ทารก และคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งติดเชื้อไวรัสนี้อาจได้รับการฉีดโปรตีนที่เป็นแอนติบอดีซึ่งเรียกว่า Immune serum globulin ภายใน 6 วันหลังการติดเชื้อ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคหัดหรือทำให้เกิดอาการรุนแรงน้อยลง การรักษาทำได้ด้วยการรักษาตามอาการ โดยให้
  • ยาลดไข้ เช่น ยา Acetaminophen ยา Ibuprofen หรือ ยา Naproxen เพื่อลดไข้ ทั้งนี้ควรระวังการให้ยาแอสไพรินในเด็กหรือวัยรุ่น เพราะยาแอสไพรินจะสัมพันธ์กับกลุ่มอาการราย (Reye's syndrome) ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • [Reye's syndrome เป็นกลุ่มอาการที่มีผลกระทบต่อทุกอวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะที่สมองและตับ อาการสำคัญที่พบบ่อย ได้แก่ อาเจียนรุนแรงและต่อมามีอาการทางสมอง เช่น สับสน มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ซึม หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ คนที่มีกลุ่มอาการนี้มักได้รับยาแอสไพรินเพื่อลดไข้ในโรคติดเชื้อจากเชื้อไวรัส]

  • ยาปฎิชีวนะ (Antibiotics) – กรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคปอดบวม หรือการติดเชื้อในหู ที่อาจเกิดขึ้นหลังการเป็นหัด แพทย์อาจจะให้ยาปฎิชีวนะได้
  • วิตามินเอ – คนที่มีระดับวิตามินเอต่ำมักจะมีอาการของโรคหัดที่รุนแรง ดังนั้นการให้วิตามินเอก็อาจจะช่วยลดความรุนแรงได้ โดยให้ที่ปริมาณ 200,000 IU (International units) เป็นเวลา 2 วัน

คนที่เคยเป็นหัดแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต แต่หากมีใครในบ้านเป็นหัด เราสามารถป้องกันไม่ให้คนอื่นติดเชื้อหัดได้โดย

  • การแยกผู้ติดเชื้อไว้ต่างหาก – เพราะช่วงเวลา 4 วัน ก่อนและหลังการมีผื่นขึ้น เป็นช่วงเวลาที่แพร่เชื้อได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่ควรคลุกคลีกับผู้อื่น
  • ฉีดวัคซีนป้องกัน - การฉีดวัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันและรักษามาก โดยการฉีด 1 เข็ม สามารถป้องกันโรคหัดได้ร้อยละ 93 และหากฉีด 2 เข็ม จะป้องกันได้ถึงร้อยละ 97 (การฉีดทั้ง 2 ครั้ง ควรห่างกันอย่างน้อย 28 วัน)

ทั้งนี้ เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง เพื่อป้องกันโรคหัด โดยแบ่งเป็น

  • เข็มแรกระหว่างอายุ 12-15 เดือน
  • เข็มที่ 2 ระหว่างอายุ 4-6 ปี

แหล่งข้อมูล

1. Measles. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/measles/basics/definition/con-20019675[2015, January 3].

2. Measles. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs286/en/[2015, January 3].

3. About Measles. http://www.cdc.gov/measles/about/index.html[2015, January 3].