โรคหลอดเลือดสมองตอน ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคอัมพาต

ทุกนาที คือ ชีวิต

ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทอย่างเฉียบพลันให้สงสัยว่าจะเป็นอาการของโรคอัมพาต ให้รีบไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทันที ไปที่แผนกฉุกเฉิน อย่าไปที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์จะให้การรักษาดังนี้

ขั้นตอนที่ 1

  • แพทย์ พยาบาลจะทำตรวจสอบอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ตรวจว่ามีอาการแขน ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท พูดลำบาก นึกคำพูดไม่ออกปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ เดินเซ มองเห็นภาพซ้อน ภาพไม่ชัดเจน
  • และสอบถามว่าอาการผิดปกติเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉียบพลันหรือไม่ เวลาไหนที่ยังปกติล่าสุด เวลาไหนที่เริ่มมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท รวมถึงการสอบถามโรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำ

ขั้นตอนที่ 2

  • แพทย์จะรีบตรวจประเมินอาการผิดปกติดังกล่าว สอบถามอาการและระยะเวลาเริ่มมีอาการผิดปกติโดยละเอียด

ขั้นตอนที่ 3

  • เมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่าน่าจะเป็นโรคอัมพาต จะรีบส่งผู้ป่วยไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง แบบที่ไม่ได้ฉีดสีเข้าหลอดเลือดดำทันที ร่วมกับการตรวจเลือด ระดับน้ำตาล ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การแข็งตัวของเลือด เกลือแร่ เพื่อคัดกรองสาเหตุของอาการอ่อนแรงว่ามีจากสาเหตุอื่นๆ หรือไม่ รวมทั้งการประเมินความพร้อมการให้ยาละลายลิ่มเลือด กรณีผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน

ขั้นตอนที่ 4

  • เมื่อทราบแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาต และได้ให้การรักษาในระยะเฉียบพลันไปเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุของการเกิดโรคอัมพาต โดยการตรวจเลือด ตรวจหลอดเลือดสมอง ตรวจหัวใจและอื่นๆ ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

ถ้ามีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ให้รีบไปโรงพยาบาลพบแพทย์ทันที ห้ามสังเกตอาการ ห้ามรอพบแพทย์ที่คลินิก