โรคหลอดเลือดสมองตอน 7 ประการที่ต้องรู้เมื่อทานยาต้าน

โรคหลอดเลือดสมอง-41
  1. ยาต้านเกล็ดเลือดที่ใช้รักษาโรคของหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งหลอดเลือดส่วนปลายมีหลายชื่อ ได้แก่ แอสไพริน โคลพิโดเกล พลาวิก อะโพเล็ต อะกรีน็อค ไดไพริดาโมล พลีทอล ซีลอสตาซอล เป็นต้น
  2. ข้อบ่งชี้ของยาต้านเกล็ดเลือด คือ ใช้รักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบ (อัมพาตชนิดสมองขาดเลือด) โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดส่วนปลายขาดเลือด ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น
  3. ระยะเวลาทานยานั้น ส่วนใหญ่แล้วต้องทานยาไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ โดยเฉพาะโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดตีบ รวมทั้งการป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้ป่วยเบาหวาน ยกเว้นหลอดเลือดหัวใจตีบที่ได้รับการผ่าตัดหรือใส่ขดลวดขยายหลอดเลือดแล้ว อาจหยุดยาได้
  4. การทานยาควรทานหลังอาหารทันที เพราะระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้ง่าย แต่ไม่จำเป็นต้องทานยาลดกรดในกระเพาะอาหารทุกคน เนื่องจากการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่เคยเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือเกิดอาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหารมาก่อน ก็ไม่จำเป็นต้องทานยาลดกรด เพราะการทานยาเกินความจำเป็นทำให้เกิดค่าใช้จ่าย และยาลดกรดเองก็ตีกันกับยาต้านเกล็ดเลือด ทำให้ประสิทธิภาพของผลการรักษาลดลง
  5. เนื่องจากยาต้านเกล็ดเลือดมีฤทธิ์ทำให้การเกาะตัวของเกล็ดเลือดเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อมีเลือดออกจึงเกิดการหยุดยากของเลือด ส่งผลให้เกิดรอยฟกซ้ำ จ้ำเลือดได้ง่ายเมื่อมีการกระแทก หรือเลือดออกเวลาแปรงฟัน ซึ่งไม่มีอันตรายใดๆ ไม่ต้องกังวล
  6. การถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าต้อกระจก หรือการผ่าตัดที่มีแผลขนาดเล็กๆ เลือดออกเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องหยุดยา ยกเว้นการผ่าตัดใหญ่ หรือการผ่าตัดที่คาดว่าจะมีเลือดออกเป็นปริมาณมาก และห้ามเลือดได้ยาก แพทย์จะแนะนำให้หยุดยาก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการรักษาทางทันตกรรม แนะนำให้รักษาในโรงพยาบาล เพราะถ้ามีปัญหาแทรกซ้อน ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
  7. ไม่ควรทานร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น บลูเฟ็น เพราะจะทำให้เกิดผลเสียต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้ง่าย เนื่องจากยาทั้ง 2 กลุ่มนั้นเกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้ทั้งคู่ ถ้าทานร่วมกันก็จะเป็นการเสริมฤทธิ์กัน และไม่ควรทานร่วมกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร เพราะอาจเกิดการตีกันระหว่างยาต้านเกล็ดเลือดกับสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้

ยาต้านเกล็ดเลือดไม่อันตรายอย่างที่คิด เพียงแค่ท่านปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นอย่างเคร่งครัด