โรคหลอดเลือดสมองตอน ยาต้านเกล็ดเลือดตอน2

โรคหลอดเลือดสมอง-40

ยาต้านเกล็ดเลือดคืออะไร

  • ยาที่ออกฤทธิ์ป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ไม่ให้เกิดการตีบแคบของหลอดเลือดเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคอัมพาต หลอดเลือดหัวใจตีบ
  • ยามีหลายชนิด เช่น แอสไพริน โคลพิโดเกล พลาวิก อะโพเล็ต ไดไพริดาโมล อะกรีน็อค เป็นต้น

ใครต้องทานยาต้านเกล็ดเลือด

  • ผู้ป่วยโรคอัมพาตสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • การรักษาด้วยยาต้านเกล็ดเลือดต้องทานยานานตลอดชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ได้ผ่าตัดหลอดเลือด หรือใส่ขดลวดขยายหลอดเลือดแล้วอาจทานยาเป็นระยะเวลานาน 1-2 ปี

ต้องระวังอะไรบ้าง

  • ควรทานยาหลังอาหารทันทีเพื่อลดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
  • ระวังการทานร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพราะจะไปเสริมฤทธิ์กัน และจะกัดกระเพาะอาหารได้ง่ายมากขึ้น
  • ระวังเลือดออกง่ายถ้าทานร่วมกับยาละลายลิ่มเลือด เพราะยาทั้ง 2 กลุ่มนั้นไปเสริมฤทธิ์กันในการหยุด หรือห้ามเลือดออก
  • ไม่ควรทานร่วมกับสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะไม่มีประโยชน์ที่ชัดเจน และอาจก่อให้เกิดผลเสียได้ด้วย

การผ่าตัด

  • ถอนฟัน ขูดหินปูน อุดฟัน ผ่าต้อกระจกเปลี่ยนเลนส์ ไม่ต้องหยุดยา เพราะยาต้านเกล็ดเลือดไม่ได้ทำให้เลือดออกมากขึ้น การผ่าตัดดังกล่าวมีเลือดออกน้อยมาก และสามารถหยุดเลือดได้ด้วยการกดบริเวณแผลที่ถอนฟันได้
  • สามารถผ่าตัดฉุกเฉินที่มีความเร่งด่วน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ กระดูกหัก ถุงน้ำดีอักเสบ โดยไม่ต้องรอหยุดยาก่อน เพราะอันตรายของโรคที่เป็นปัญหาฉุกเฉินนั้นมีมากกว่าปัญหาเลือดหยุดยาก
  • สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดกรณีเกิดปัญหาอัมพาตสมองขาดเลือดแบบเฉียบพลัน การผ่าตัดหลอดเลือด หรือใส่ขดลวดขยายหลอดเลือดหัวใจตีบได้ทันที ไม่เพิ่มโอกาสการเกิดเลือดออก