โรคหลอดเลือดสมองตอน ความแตกต่างระหว่าง อัมพาตปากเบี้ยว กับ เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ

ความแตกต่างระหว่าง อัมพาตปากเบี้ยว-กับ-เส้นประสาทสมองคู่ที่-7-อักเสบ

ความจริงของอาการปากเบี้ยวที่ต้องรู้

  • อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อย รองจากอาการปวดศีรษะ แขน ขาอ่อนแรง ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการได้หลายแบบ ได้แก่ อาการปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท น้ำลายไหล อมน้ำบ้วนปากไม่ได้ ผิวปากไม่ได้
  • สาเหตุเกิดจากรอยโรคในสมอง หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งมีลักษณะความผิดปกติที่แตกต่างกัน

สาเหตุจากโรคในสมอง

  • อยโรคในสมองที่ก่อให้เกิดอาการปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิทนั้น เกิดจากโรคอัมพาตสมองขาดเลือด หรือเลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมอง การอักเสบหรือติดเชื้อในเนื้อสมอง หรือสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ไม่บ่อย เช่น โรคเอ็มเอส (multiple sclerosis) เป็นต้น
  • ผู้ป่วยอาจมีอาการปากเบี้ยวมาก ยิ้มหรือยิงฟันไม่ได้ หลับตาไม่ค่อยสนิท แต่ยังยักคิ้วได้ เป็นลักษณะที่แตกต่างจากรอยโรคที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่มักจะมีอาการผิดปกติทั้งปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ยักคิ้วไม่ได้ร่วมด้วย
  • นอกจากอาการปากเบี้ยวแล้ว มักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แขน ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ปวดศีรษะ ซึม ไข้สูง
  • ควรรีบพบแพทย์ทันทีที่มีอาการ เพื่อให้แพทย์รีบตรวจรักษาว่ามีสาเหตุจากอะไร จะได้รีบให้การรักษาได้ถูกต้อง
  • จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือเอ็มอาร์ไอสมอง เพื่อหาสาเหตุของการเกิดอาการปากเบี้ยว เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง

สาเหตุจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7

  • เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เบลส์พาวซี้ (Bell’s palsy) โรคนี้พบได้บ่อยมากๆ ไม่มีอันตราย แต่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล
  • มีอาการปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ยักคิ้วไม่ได้ (มีอาการผิดปกติทั้งซีกของใบหน้า) โดยมักมีอาการปวดบริเวณหน้าหูหรือหลังหูนำมาก่อนหลายวัน หรือบางรายเป็นไข้หวัดนำมาก่อน พบบ่อยขึ้นในหญิงตั้งครรภ์
  • ตื่นเช้าขึ้นมาจะอมน้ำบ้วนปาก เพื่อแปรงฟันแล้วอมน้ำไม่ได้ น้ำไหลออกจากมุมปาก อาจมีอาการรับรสผิดปกติด้วย
  • แต่จะไม่มีอาการแขน ขาอ่อนแรง ซึม ไข้สูง เหมือนกับรอยโรคในสมอง
  • การรักษาด้วยยาเพ็ดนิโซโลนขนาดสูงประมาณ 10 วัน
  • ไม่ต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือเอ็มอาร์ไอสมอง
  • อาการส่วนใหญ่หายดีเป็นปกติ ไม่มีอันตราย แต่ในผู้ป่วยที่ไม่หายอาจเกิดภาวะปากกระตุกเวลาหลับตา หรือ ตากระตุกเวลาพูด น้ำตาไหลเวลาเคี้ยวอาหาร

ดังนั้นถ้าเกิดอาการปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ให้รีบพบแพทย์เร็วที่สุด ไม่แนะนำให้สังเกตอาการหรือพิจารณาเองว่ามีปัญหาผิดปกติส่วนไหนของระบบประสาท ให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรคและรักษาดีกว่า