โรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจ (Cardiogenic cerebral embolism)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร?

โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาต คือโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยโรคหนึ่งที่ ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ก่อให้เกิดความพิการได้มากที่สุด, มี 2 ชนิดตามพยาธิสภาพของเนื้อสมองที่ผิดปกติ คือ ชนิดขาดเลือด และ ชนิดเลือดออก(Ishchemic and hemorrhagic stroke)

สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด เกิดจากการตีบของหลอดเลือดสมอง (Cerebral thrombosis) และ/หรือจากการอุดตันของหลอดเลือดสมอง/ โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตัน (Cerebral embolism หรือ Cerebral stroke หรือ Embolic stroke)

ส่วนโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในเนื้อสมองเกิดจากหลอดเลือดสมองฉีกขาดหรือแตกที่มักมีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง (Hypertensive intracerebral hemorrhage),  โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง,  หรือจากภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ

อนึ่ง: การอุดตันของหลอดเลือดสมองอาจมีสาเหตุสืบเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (ในบทความนี้ ขอเรียกว่า ‘โรคหัวใจ’),  ซึ่งเรียกว่า “โรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเหตุโรคหัวใจ (Cardiogenic cerebral embolism)” วันนี้เรามารู้จัก ‘โรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจ’ กันครับ

โรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจมีสาเหตุจากอะไรบ้าง?

 

สาเหตุที่พบบ่อยของโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจ: เช่น

  • โรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ/หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) เช่นโรค Atrial fibrillation (AF)
  • โรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic heart disease) ชนิดลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ (Mitral valve stenosis)
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • โรคลิ่มเลือดบริเวณหลอดเลือดแดงคาโรติค/หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ลำคอ (Plague at carotid artery)
  • โรคลิ่มเลือดจากหลอดเลือดแดงเอออร์ติกบริเวณช่องอก (Plague at aortic arch)

โรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจพบบ่อยหรือไม่?

โรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจพบบ่อยทั่วโลกประมาณ 10%-30% ของผู้ป่วยอัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง/stroke) ในกลุ่มย่อย ‘โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตัน’ โรคนี้พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย มักพบในผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป ยิ่งอายุสูงขึ้นโอกาสเกิดโรคนี้จะยิ่งสูงขึ้น

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจ?

ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจได้บ่อย คือ ผู้ป่วยในกลุ่มดังต่อไปนี้ เช่น

  • โรคหัวใจชนิดที่เรียกว่า โรคหัวใจรูมาติก
  • โรคลิ้นหัวใจชนิดลิ้นไมตรัลตีบ
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด AF
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผู้สูงอายุ

อาการผิดปกติทางระบบประสาทจากโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจมีอะไรบ้าง?

อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยจากโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจ เช่น 

  • แขนขาอ่อนแรง
  • ปากเบี้ยว
  • พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ออก นึกคำพูดไม่ออก
  • เดินเซ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ซึ่งอาการทั้งหมดนั้น จะเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด (Sudden onset) และเป็นมากทันที จะไม่ค่อยมีอาการเป็นมากขึ้นๆเหมือนอย่างหลอดเลือดสมองตีบ (Cerebral thrombosis)

มีอาการผิดปกติของร่างกายระบบอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่?

อาการผิดปกติอื่นที่อาจพบร่วมกับอาการทางระบบประสาทในโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจ เช่น 

  • อาจมีการอุดตันของหลอดเลือดบริเวณอื่นๆ (Embolic phenomenon) เช่น
    • หลอดเลือด นิ้วมือ-นิ้วเท้า: อาการเช่น นิ้วมือนิ้วเท้าเขียวคล้ำ ปวด เป็นแผลจากเนื้อตายจากขาดเลือด
    • หลอดเลือดจอตา: อาการ เช่น ตามัว  
  • และอาการผิดปกติอื่นๆของโรคหัวใจที่เป็นอยู่ก่อน: เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย, นอนราบจะหายใจไม่ได้ต้องนั่งหายใจ, คลำชีพจรไม่ได้ของแขนขาข้างที่มีการอุดตันของหลอดเลือด

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวใน 'หัวข้อ  อาการทางระบบประสาท' เพื่อให้เข้าสู่ระบบการรักษาทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke fast track) ไม่ควรรอสังเกตอาการเพราะอาจทำให้เสียโอกาสในการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจอย่างไร?

 แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจได้โดย

  • ข้อมูลจากประวัติที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ที่เกิดอาการทางระบบประสาทขึ้นมาอย่างทันที ทันใด
  • ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท พบความผิดปกติทางระบบประสาทและทางโรคร่วมที่เป็นสาเหตุ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ถ้าข้อมูลเบื้องต้นเข้ากับโรคหลอดเลือดสมอง แพทย์ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) สมองเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
  • นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันโรคหัวใจที่เป็นสาเหตุของการเกิดหลอดเลือดสมองอุดตัน เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี, การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (เอคโคหัวใจ)

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจในระยะแรกทำอย่างไร?

การรักษาในระยะแรกของโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจประกอบด้วย

  • การฉีดยาละลายลิ่มเลือด/ยาสลายลิ่มเลือดเข้าทางหลอดเลือดดำ (Intravenous thrombolysis) กรณีผู้ป่วยมาโรงพยาบาลภายในเวลา 270 นาทีหลังเกิดอาการและไม่มีข้อห้ามในการใช้ยานี้
  • แต่ถ้า ไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้ แพทย์จะฉีดยาละลายลิ่มเลือดอีกชนิด (Anticoagulant เช่น low molecular weight heparin) ทางชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) เพื่อป้องกันการเป็นมากขึ้นของลิ่มเลือดอุดตัน

*อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดไม่ว่าจะชนิดใดในช่วงแรกนั้น *ต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพราะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่สำคัญ เช่น

  • ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง/ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ จึงต้องติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
  • และผู้ป่วย/ครอบครัวต้องทราบทั้งข้อดีและข้อเสียของการใช้ยาละลายลิ่มเลือดจากแพทย์จนเข้าใจในวิธีรักษา, ผลการรักษา, และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากยานี้

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจในระยะต่อมาทำอย่างไร?

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจในระยะต่อมา คือ

  • การใช้ยาละลายลิ่มเลือด/ยาสลายลิ่มเลือดชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำของหลอดเลือดสมองอุดตัน (Secondary prevention), ซึ่งจะใช้ยานี้ไปตลอดชีวิตในกรณีหลอดเลือดสมองอุดตันเกิดจากการเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือจากลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ
  • ร่วมกับการแก้ไข/รักษาโรคหัวใจ
  • และรวมถึงการทำกายภาพบำบัดกรณีมีแขนขาอ่อนแรง

การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดมีข้อควรระวังอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาละลายลิ่มเลือด/ยาสลายลิ่มเลือดที่สำคัญ เช่น

  • เนื่องจากยาละลายลิ่มเลือดอาจเกิดปัญหาจากยาเกินขนาดหรือตัวยาในเลือดไม่ได้ระดับคงที่ในการรักษา เพราะเกิดการตีกันของยาได้ง่าย (อันตรกิริยา/ปฏิกิริยาระหว่างยา: Drug interaction) ระหว่างยาละลายลิ่มเลือดกับยาอื่นที่ผู้ป่วยทานเป็นประจำ/หรือที่ใช้รักษาโรคหัวใจ, หรือกับอาหารเสริม/สมุนไพร, จึงไม่ควรใช้อาหารเสริม หรือ สมุนไพรร่วมด้วยในการรักษา, และ*จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งแพทย์/เภสัชกรเสมอถึงยาต่างๆที่ผู้ป่วยทานหรือใช้อยู่

การรักษาต้องมาพบแพทย์บ่อยแค่ไหน?

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องมีการติดตาม ค่าการแข็งตัวของเลือดให้ได้ระดับที่แพทย์ต้องการตลอดเวลา เช่น

  • การติดตามการรักษา/การพบแพทย์/การมาโรงพยาบาลในช่วงแรกอาจต้องบ่อยพอสมควรเช่น ทุกสัปดาห์จนได้ระดับค่าการแข็งตัวของเลือดที่แพทย์ต้องการ
  • หลังจากนั้น แพทย์อาจนัดทุก 1 - 2 เดือน ขึ้นกับอาการทางระบบประสาท และอาการของโรคหัวใจ

ปัจจุบัน ทุกโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทย ได้พัฒนาระบบการติดตามการตรวจวัดระดับ ค่าการแข็งตัวของเลือด (Warfarin clinic) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกของการติดตามการรักษาและเพิ่มคุณภาพในการรักษาให้กับผู้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนในโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่พบจากโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจที่สำคัญ เช่น   

  • ผลที่เกิดสืบเนื่องมาจากอาการทางระบบประสาท/อัมพาต คือ ข้อติด, แผลกดทับ, ติดเชื้อในปอด/ปอดอักเสบ/ปอดบวมจากการสำลักอาหาร, โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, ภาวะซึมเศร้า
  • นอกจากนี้ ยังเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทานยาละลายลิ่มเลือด/ยาสลายลิ่มเลือด เช่นภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร,  และภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ เป็นต้น

โรคนี้มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค หรือ ผลการรักษาของโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจขึ้นกับสาเหตุของหลอดเลือดสมองอุดตัน เช่น ถ้าการอุดตันเกิดจากลิ่มเลือดขนาดใหญ่หรือเกิดในตำแหน่งของสมองส่วนสำคัญ (เช่น ก้านสมอง) ก็จะมีผลการรักษาที่ไม่ดี

นอกจากนี้การพยากรณ์โรคยังขึ้นกับ

  • การเกิดภาวะแทรกซ้อน ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน ผลการรักษาก็ไม่ดี
  • รวมถึงการรักษาได้ทันเวลารวดเร็วหรือไม่ ถ้าการรักษาล่าช้าผลการรักษาก็ไม่ดีเช่นกัน

ญาติหรือผู้ดูแลต้องให้การดูแลผู้ป่วยอย่างไรบ้าง?

ในโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจกรณีผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้, ญาติ/ผู้ดูแลต้องคอยดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะในเรื่องสำคัญดังนี้ เช่น

  • พลิกตัวผู้ป่วยบ่อยๆเพื่อป้องกันแผลกดทับ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การป้องกันแผลกดทับ)
  • การทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • การทำกายภาพบำบัดตามแพทย์/พยาบาล/นักกายภาพบำบัดแนะนำ
  • การทานยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง
  • ระวังอย่าให้ผู้ป่วยล้มหรือมีการกระเทือนต่อศีรษะ
  • หลีกเลี่ยงการทานสมุนไพรและ/หรือ อาหารเสริม/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยไม่ได้ ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
  • พาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดให้สม่ำเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ในโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจ กรณีมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยดูแลตนเองที่บ้าน เช่น ไข้ขึ้นสูง ทานอาหารไม่ได้ สำลักอาหาร มีแผลกดทับ เลือดออกผิดปกติตามอวัยวะต่างๆ ปวดศีรษะรุนแรง แขน-ขาอ่อนแรงมากขึ้น เป็นต้น, ควรต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วไม่ต้องรอจนถึงวันนัด อาจต้องทันที่/ฉุกเฉินทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

การดูแลตนเองที่บ้านควรทำอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้านในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจที่สำคัญ เช่น

  • ต้องทานยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งสม่ำเสมอ
  • หมั่นทำกายภาพบำบัดตามแพทย์/พยาบาล/นักกายภาพบำบัดแนะนำ
  • ระวังการเคลื่อนไหว อย่าให้ล้มหรือศีรษะกระทบกระเทือน
  • ถ้ามีการเจ็บป่วยใดๆ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วไม่ต้องรอจนถึงวันนัด และแจ้งแพทย์ด้วยว่าทานยาละลายลิ่มเลือด/ยาสลายลิ่มเลือด
  • ไม่ควรซื้อยาทานเอง
  • ไม่หยุดยาละลายลิ่มเลือดเอง

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจได้อย่างไร?

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจที่สำคัญ: เช่น  

  • การป้องกัน การรักษาโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ (ดังกล่าวใน 'หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ') ให้ได้ดี

(แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่อง การป้องกัน/รักษาแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเหตุโรคหัวใจได้จากเว็บ haamor.com)

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/1160370-overview#a4  [2022,Nov12]