โรคหน้าแก่ (Cutis laxa)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคหน้าแก่ (Cutis laxa ชื่ออื่นคือ Chalazoderma, Dermatochalasia, Dermatolysis, Dermatomegaly, Generalized elastolysis, Generalized elastorrhexis, หรือ Pachydermato cele) นั้นยังไม่มีการบัญญัติชื่อไทยอย่างเป็นทางการเพื่อใช้ในการเรียก แต่ด้วยอาการของโรคที่ทำให้เกิดลักษณะผิวแก่หย่อนคล้อยก่อนวัย จึงมีการเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “โรคหน้าแก่”

โรคหน้าแก่ เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก ทั่วโลกมีการรายงานผู้ป่วยประมาณ 200 ราย พบได้ทั้ง ชาย หญิง ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ โดยสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของเส้นใยอีลาสติน(Elastin) ซึ่งเป็นโครงสร้างของผิวหนังที่ทำให้เกิดความยืดหยุ่น มีการเสื่อมเร็วกว่าอายุจริง ทั้งจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หรืออาจจากเสื่อมโดยกระตุ้นจากกระบวนการอักเสบ

โรคหน้าแก่มีสาเหตุเกิดได้อย่างไร?

โรคหน้าแก่

สาเหตุของโรคหน้าแก่ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

ก. กลุ่มที่ 1 เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้มากที่สุด เป็นกลุ่มที่แสดงอาการตั้งแต่กำเนิด กลุ่มนี้อาจพบประวัติเป็นโรคเดียวกันนี้ในครอบครัว โดยโรคเกิดจากความผิดปกติของดีเอ็นเอ (DNA) ที่มีความเกี่ยวข้องกับเส้นใยอีลาสติน/Elastin (ส่วนประกอบที่เป็นโครงสร้างของผิวหนัง ที่ทำให้เกิดความยืดหยุ่นของผิว) มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหลายแบบ ทั้งแบบยีน/จีนเด่น(Dominant gene, มีเพียงจีนเดียว ผู้ป่วยก็มีอาการ), ยีนด้อย (Recessive gene, ต้องมีจีนคู่กัน ผู้ป่วยจึงจะมีอาการ), และแบบถ่ายทอดทางโครโมโซมเพศ ซึ่งแต่ละชนิด/แต่ละสาเหตุ ก็จะมีความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน

ข. กลุ่มที่ 2 ไม่ได้เป็นแต่กำเนิด และไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมชนิดที่ถ่ายทอดได้เหมือนกลุ่มแรก มักเกิดเมื่อโตแล้วหรือเป็นผู้ใหญ่แล้ว โดยอาจเกิดตามหลังการอักเสบของผิวหนัง หรือตามหลังโรคที่กำให้เกิดความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น เกิดตามหลังอาการแพ้ยา เช่น ยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนนิซิลิน (Penicillin), ยาเพนนิสซิลลามิน (Penicillamine) ที่ใช้รักษาโรคข้อรูมาตอย, ยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ที่รักษาวัณโรค, หรือ เกิดตามหลังการอักเสบของผิวหนัง เช่น ผื่นลมพิษ โรคผิวหนังที่มีตุ่มพองจากการแพ้ยา โรคมะเร็งของเซลเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า Multiple myeloma, หรือตามหลังโรคภูมิแพ้ตนเอง/โรคออโตอิมมูน เช่น เอสแอลอี, และอีกส่วนหนึ่งประมาณ 50% ของผู้ป่วย แพทย์ไม่ทราบสาเหตุ หาสาเหตุไม่พบ

โรคหน้าแก่ติดต่ออย่างไร?

โรคหน้าแก่ ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถติดต่อบุคคลอื่นได้ ไม่ว่าจะคลุกคลีกันอย่างไร ที่รวมไปถึงการใช้สิ่งของร่วมกัน แต่โดยส่วนใหญ่ของผู้ป่วย ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ โรคสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

โรคหน้าแก่อาการอย่างไร?

อาการหลักที่เห็นชัดเจนของโรคหน้าแก่ คือ อาการทางผิวหนัง ผิวหนังจะเสียความยืดหยุ่น เมื่อดึงให้ยืดออกจะไม่มีการหดตัวกลับเหมือนผิวหนังของเด็กหรือหนุ่มสาว ผิวหนังจะเป็นรอยพับเหี่ยวย่นโดยเฉพาะบริเวณ ใบหน้า คอ หลัง

เส้นใยอีลาสติน นอกจากเป็นโครงสร้างของผิวหนังแล้ว ยังเป็นโครงสร้างของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในอวัยวะอื่นๆในเกือบทุกอวัยวะของร่างกาย ดังนั้น นอกจากจะมีความผิดปกติที่ผิวหนังแล้ว จึงอาจมีความผิดปกติของอวัยวะภายในอื่นๆร่วมด้วย ที่จะส่งผลให้โรคมีอาการรุนแรงขึ้น (ขึ้นกับว่า โรคเกิดกับอวัยวะใดหรือกับทุกอวัยวะ) เช่น ปอด หลอดเลือด กระเพาะปัสสาวะ กระดูก

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากมีความผิดปกติของผิวหนังที่สงสัยเป็นโรคหน้าแก่ สามารถพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจรักษาได้เสมอ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการจากอวัยวะอื่นๆร่วมด้วย

แพทย์วินิจฉัยโรคหน้าแก่ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหน้าแก่ ได้จาก

  • ประวัติอาการ ประวัติการมีโรคนี้ในครอบครัว และประวัติทางการแพทย์ต่างๆที่แพทย์สงสัยว่าอาจเกี่ยวข้อง
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจลักษณะผิวหนัง
  • การตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังที่เกิดโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ที่จะพบมีเส้นใยอีลาสตินลดจำนวนลง ส่วนเส้นใยฯที่ยังเหลืออยู่ก็พบความผิดปกติ ไม่สมบูรณ์
  • และการตรวจเพื่อการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมอื่นๆตามดุลพินิจของแพทย์ และตามอาการผู้ป่วย เพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆที่อาจได้รับผลกระทบจากความผิดปกติของเส้นใยอีลาสติน เช่น
    • การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ เพื่อตรวจหาโรคถุงลมโป่งพองจากความผิดปกติของอีลาสติน เป็นต้น

รักษาโรคหน้าแก่อย่างไร?

ไม่มียาเฉพาะที่ใช้รักษาโรคหน้าแก่ การรรักษาเป็นการรักษาตามอาการ โดยที่ผิวหนังอาจทำการตัดแต่งผิวหนังส่วนที่ย้อยออก แต่ได้ผลการรักษาเพียงชั่วคราว

นอกจากนั้น ผิวหนังบริเวณใบหน้า สามารถทดลองรักษารอยเหี่ยวย่นด้วยการฉีดโบทอก (Botox, ยาที่ได้จากสารชีวพิษของแบคทีเรียบางชนิด ที่ลดรอยเหี่ยวย่นได้ชั่วคราว)ได้

ส่วนการรักษาความผิดปกติที่อวัยวะอื่น เป็นการรักษาตามอาการ ขึ้นกับว่าเป็นอาการเกิดกับอวัยวะใด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง, โรคถุงลมโป่งพองจากการการเสียความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในอวัยวะนั้นๆ

โรคหน้าแก่ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคหน้าแก่ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วย เนื่องจากทำให้เกิดลักษณะผิวหนังภายนอกหย่อนคล้อยดูแก่ก่อนวัย นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่ออวัยวะภายในมีความผิดปกติ เช่น โรคระ บบหายใจและโรคหัวใจ เป็นต้น

โรคหน้าแก่มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคหน้าแก่ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เกิดกับอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้อง เช่น

  • ผู้ป่วยอาจมีอายุสั้นลงเนื่องจากมีความผิดปกติของระบบหายใจและหัวใจร่วมด้วย
  • แต่ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเฉพาะที่ผิวหนังเท่านั้นก็จะมีอายุได้ยืนนานเท่ากับคนปกติ

ดูแลรักษาตนเองอย่างไร?

การดูแลรักษาตนเองเมื่อมีโรคหน้าแก่ คือ การดูแลสุขภาพตามหลักสุขอนามัยทั่วไป (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เช่น

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • งดสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ จะช่วยชะลอความเสื่อมของปอด ในกรณีที่พบร่วมกับโรคถุงลมโป่งพอง
  • ไม่ดื่มสุรา เลิกสุรา จะช่วยชะลอความเสื่อมของโรคตับ ในกรณีมีอาการของโรคตับร่วมด้วย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ

การดูแลเพิ่มเติมนอกจากนั้นคือ

  • รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง
  • กรณีรักษาอยู่กับแพทย์แล้ว ก็ควรต้องปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ
    • อาการที่มีอยู่เลวลง หรือ ผิดไปจากเดิม
    • มีอาการใหม่เกิดขึ้น
    • และ/หรือ กังวลในอาการ

ป้องกันโรคหน้าแก่อย่างไร?

การป้องกันโรคหน้าแก่ เช่น

  • โรคหน้าแก่ในกลุ่มที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ป่วยควรรับคำปรึกษาเกี่ยวกับสาเหตุและโอกาสการเกิดโรคของบุตรเมื่อต้องการมีบุตร
  • ส่วนในกลุ่มที่สาเหตุไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม อาจป้องกันโรคหน้าแก่ได้บ้าง เช่น
    • การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น จากการแพ้ยา โดยกินยาแต่เฉพาะกรณีที่จำเป็น
  • อย่างไรก็ตาม *ส่วนใหญ่ โรคหน้าแก่ก็ยังเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง

บรรณานุกรม

  1. Daniel J Hogan, MD; Chief Editor: Dirk M Elston, MD.Cutis Laxa .17 Jan 2012.http://emedicine.medscape.com/article/1074167-overview [2020,Feb15]
  2. Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :chapter.eight edition.McGraw-Hill.2012
  3. https://www.dermnetnz.org/topics/cutis-laxa/ [2020,Feb15]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Cutis_laxa [2020,Feb15]