โรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ (ตอนที่ 1)

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกับมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงาน “สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” ที่สวนสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยรู้จักโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเเกิดจากสมองฝ่อ ที่พบในคนไทยร้อยละ 30 สธ. เห็นความจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขป้องกันหรือชะลอการป่วยเป็นโรคนี้ เนื่องจากประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นในอนาคต ในขณะที่ทั่วโลกพบผู้สูงอายุเป็นโรคสมองเสื่อมไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน และอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคนต่อปี

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสุขภาพได้ประมาณการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน โดยโรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและพบในเขตชนบทมากกว่าในเมือง สาเหตุใหญ่ในประเทศไทย พบว่าประมาณร้อยละ 60 สัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดแข็ง ตีบ ตัน ทำเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่วนที่เหลือนั้นมักเป็นโรคที่เกิดจากสาเหตุ อื่นๆ เช่น การทำงานของต่อมไธรอยด์ผิดปกติ เป็นต้น

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease หรือ AD) เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โรคนี้ได้รับการค้นพบครั้งแรกโดยนักจิตวิทยาและนักพยาธิสภาพระบบประสาทชาวเยอรมันชื่อว่า อัลลอยส์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) ในปี พ.ศ. 2449 และตั้งชื่อโรคตามชื่อของท่าน โรคนี้พบในคนที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป

แม้ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการแตกต่างไปในแต่ละคน แต่จะมีอาการเหมือนกันหลายประการ อาการแรกเริ่มคือความเครียด ซึ่งมักเข้าใจผิดคิดว่าเกิดขึ้นเองตามอายุที่มากขึ้น อาการที่พบในระยะแรกๆ ต่อมาคือจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ไม่ได้

การวินิจฉัยโรคนี้ก็โดยการประเมินพฤติกรรม ความสามารถในการคิด และการสแกน (Scan) สมอง ต่อมาผู้ป่วยก็จะมีอาการสับสน หงุดหงิด ก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาด้านภาษา สูญเสียความทรงจำระยะยาว สูญเสียการทำงานของร่างกายและเสียชีวิตในที่สุด

หลังผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยมากมักมีอายุเฉลี่ยได้อีกประมาณ 7 ปี น้อยกว่าร้อยละ 3 ที่มีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 14 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ สาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่เข้าใจดีนัก หลายงานวิจัยชี้ว่า โรคนี้น่าจะเกี่ยวกับคราบ (Plaque) และและกลุ่มใยประสาทบางชนิด (Tangle) ในสมอง ยังไม่มีการรักษาที่ช่วยหยุดหรือชะลอการดำเนินของโรคนี้ แต่แนวทางที่แนะนำคือ การกระตุ้นทางจิตใจ การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ อาจช่วยชะลออาการของโรคได้

เนื่องจากโรคนี้รักษาไม่หายขาด การดูแลผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งมักจะเป็นคู่สมรสหรือญาติสนิท และโรคนี้ก็สร้างภาระแก่ผู้ที่ดูแลอย่างมากทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางสังคม และทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย

แหล่งข้อมูล

  1. คนไทยเสี่ยงสมองเสื่อมเร็วขึ้น แนะฝึกท่องจำ-คิดคำนวณบ่อบครั้ง - http://www.naewna.com/local/40659 [2013, February 13].
  2. Alzheimer's disease - http://www.naewna.com/local/40662 [2013, February 21].
  3. Alzheimer's disease-http://en.wikipedia.org/wiki/Alzheimer's_disease [2013, February 21].