โรคสมองฝ่อ อีกหนึ่งอันตรายจากการถ่ายเลือด (ตอนที่ 1)

เว็บไซต์ BBC รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนถึงอันตรายที่คนสามารถติดเชื้อโรคสมองฝ่อวาเรียนท์ (variant CJD, vCJD) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “โรควัวบ้า” ได้จากการถ่ายเลือด

คณะกรรมการสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบหลังจากศึกษาพบว่า 1 ใน 2,000 คนของชาวอังกฤษทั้งหมด แพร่เชื้อชนิดดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าผู้คนเหล่านั้นจะไม่เคยมีอาการที่แสดงให้เห็น แต่พวกเขาก็สามารถแพร่กระจายโรคไปยังผู้อื่นผ่านทางเลือด ดังนั้นการบริจาคเลือดจึงควรมีการตรวจโรคสมองฝ่อด้วย เพื่อลดความเสี่ยง

แอนดรูว์ มิลเลอร์ส เอ็มพี ประธานคณะกรรมการกล่าวว่า โรคครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบ (โรคสมองฝ่อ หรือ โรควัวบ้า) เป็นภาวะที่น่ากลัวและน่ากังวลมาก เพราะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน แม้ว่าความเสี่ยงของการเกิดโรคจะเป็นผลมาจากการกินเนื้อวัวปนเปื้อน แต่ก็เป็นไปได้ว่าการติดเชื้อจะสามารถแพร่กระจายไปได้โดยไม่เจตนา

โรคครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบ (Creutzfeldt–Jakob disease = CJD) เป็นโรคความผิดปกติของสมองที่ไม่มีทางรักษาและมักทำให้เสียชีวิต บางครั้งก็มีการเรียก CJD ว่าเป็นโรคสมองฝ่อในวัว (โรควัวบ้า - Bovine Spongiform Encephalopathy = BSE) เพราะมีความเชื่อว่า BSE เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค variant Creutzfeldt–Jakob (vCJD) ในคน แม้ว่าจริงๆ แล้ว CJD และ BSE จะไม่มีความเกี่ยวโยงกันเลย

มีการค้นพบ CJD มาตั้งแต่ พ.ศ.2463 เป็นโรคที่พบได้ยาก โดย CJD เกิดจากการติดเชื้อที่เรียกว่า “พรีออน” (Prion) ซึ่งเป็นโปรตีนขนาดเล็ก ไม่ละลายน้ำ ทนความร้อน ทนการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทั้งร้อนและเย็น ทนต่อความแห้ง ทนต่อแสงยูวี ทนต่อการย่อยสลาย โดยพรีออนจะสามารถก่อโรคทำให้สมองเสื่อมสภาพ ด้วยการทำให้เซลล์สมองเป็นรูมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ

[โปรตีนพรีออนเป็นโปรตีนที่พบในเซลล์ของร่างกาย มีทั้งชนิดที่ปกติและชนิดผิดปกติมีโทษ การเกิด CJD อาจมีการพัฒนาจากพรีออนปกติไปเป็นโปรตีนผิดปกติ โดยโปรตีนที่ผิดปกติจะจับกันเป็นกลุ่มก้อน ทำลายเซลล์ประสาทและสมอง]

จากผลการศึกษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (The Centers for Disease Control and Prevention = CDC) ในสหรัฐอเมริกา พบว่า

  • ทั่วโลกมีอัตราการเกิด CJD ที่ 1:1,000,000 คนต่อปี เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วย CJD ปีละ 200 ราย
  • ในสหรัฐอเมริกา ไม่ค่อยพบผู้เสียชีวิตด้วย CJD ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี (มีอัตราส่วนที่น้อยกว่า 5 คนใน 1 พันล้านคน)
  • CJD มักเกิดในคนที่อายุระหว่าง 55–65 ปี แต่ก็มีบางกรณีที่เกิดในคนที่อายุมากกว่า 90 ปี และอายุน้อยกว่า 55 ปี
  • ผู้ป่วยร้อยละ 85 จะมีอายุอยู่ได้น้อยกว่า 1 ปี หลังเริ่มมีอาการ (ค่ามัธยฐานอยู่ที่ 4 เดือน)

แหล่งข้อมูล:

  1. โรควัวบ้า ติดต่อกันได้จากการถ่ายเลือด http://dailynews.co.th/Content/Article/201023/โรควัวบ้า+ติดต่อกันได้จากการถ่ายเลือด [2013, December 18].
  2. Creutzfeldt–Jakob disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Creutzfeldt%E2%80%93Jakob_disease [2013, December 18].
  3. CJD. http://www.cdc.gov/ncidod/dvrd/cjd/ [2013, December 18].