“โรคลิชมาเนีย” โรคอุบัติใหม่ (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

โรคลิชมาเนีย โรคอุบัติใหม่

การวิเคราะห์โรคสามารถทำได้หลายวิธีในห้องแล็ป เช่น

  • การตรวจชิ้นเนื้อและเพาะเนื้อเยื่อของม้าม (Biopsy of the spleen and culture)
  • การตรวจชิ้นเนื้อและเพาะเนื้อเยื่อของไขกระดูก (Bone marrow biopsy and culture)
  • การตรวจชิ้นเนื้อและเพาะเนื้อเยื่อของตับ (Liver biopsy and culture)
  • การตรวจชิ้นเนื้อและเพาะเนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลือง (Lymph node biopsy and culture)
  • การตรวจชิ้นเนื้อและเพาะเนื้อเยื่อของผิวหนัง (Skin biopsy and culture)
  • การทดสอบที่ใช้ปฏิกิริยาการเกาะกลุ่มโดยตรง (Direct agglutination assay)
  • การทดสอบหาสารภูมิต้านทานโรคนี้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า Indirect immunofluorescent antibody test

นอกจากนี้อาจใช้การตรวจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count)
  • การตรวจทางน้ำเหลือง (Serologic testing)
  • การตรวจระดับของอัลบูมินในเลือด (Serum albumin)
  • การตรวจระดับของอิมมุโนโกลบุลินในเลือด (Serum immunoglobulin levels)
  • การตรวจระดับโปรตีนในเลือด (Serum protein)

สำหรับการรักษานั้น โรคลิชมาเนียที่ผิวหนังมักหายได้เอง แต่อาจต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือนหรือแรมปี และจะกลายเป็นรอยแผลเป็นที่น่าเกลียด นอกจากนี้เชื้อบางชนิดอาจจะลามจากผิวหนังไปเป็นแผลที่เยื่อบุ เช่น ที่จมูก ปาก หรือคอ กลายเป็นโรคลิชมาเนียที่เยื่อบุ ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปีก็ได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดโรคลิชมาเนียที่เยื่อบุ จึงควรต้องทำการรักษาให้หายตั้งแต่ตอนที่เป็นโรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง

ทั้งนี้ คนที่เป็นโรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายในควรรีบทำการรักษาให้หายอย่างเร่งด่วน เพราะในกรณีรุนแรงของโรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายใน หากไม่ทำการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อ ทางที่ดีที่สุดสำหรับนักเดินทางในการป้องกันการติดเชื้อก็คือ การป้องกันตัวเองจากริ้นฝอยทราย ด้วยวิธีการลดความเสี่ยงดังต่อไปนี้

กรณีอยู่กลางแจ้ง

  • ปกปิดผิวหนังให้มากที่สุด ด้วยการสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงเท้า และเสียบเสื้อในกางเกง
  • ใช้ยาป้องกันแมลง (Insect repellent)

กรณีอยู่ในที่ร่ม

  • อยู่ในที่มีมุ้งลวดกัน
  • ระลึกอยู่เสมอว่าริ้นฝอยทรายนั้นตัวเล็กกว่ายุงมาก ดังนั้นจึงอาจลอดผ่านรูเล็กได้
  • ฉีดยาฆ่าแมลงให้ทั่วบริเวณ
  • หากไม่ได้นอนในที่มีมุ้งลวด ให้นอนในมุ้งที่ชุบด้วยสารกำจัดแมลงและเสียบปลายมุ้งไว้ใต้เสื่อ

แหล่งข้อมูล

  1. Parasites - Leishmaniasis. http://www.cdc.gov/parasites/leishmaniasis/ [2015, April 26].
  2. Leishmaniasis. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs375/en/ [2015, April 26].
  3. Leishmaniasis. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001386.htm [2015, April 26].