“โรคลิชมาเนีย” โรคอุบัติใหม่ (ตอนที่ 3)

โรคลิชมาเนีย โรคอุบัติใหม่

เชื้อลิชมาเนียอาจอยู่ในร่างกายอย่างสงบเป็นเวลาหลายปี โดยจะเริ่มมีการแบ่งตัวหากระบบภูมิต้านทานถูกกด เช่น คนที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด มีการใช้ยาสเตียรอยด์ หรือติดเชื้อเฮชไอวี และคนที่เคยเป็นโรคลิชมาเนียที่ผิวหนังมักจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคลิชมาเนียที่เยื่อบุได้ง่าย

อาการของโรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายใน (Visceral leishmaniasis = VL) อาจจะรุนแรงหรือเล็กน้อย ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ปรากฏอาการ (Asymptomatic) และไม่รู้ว่าตัวเองเป็นตัวนำเชื้อ อาการอาจปรากฏหลังการโดนริ้นฝอยทรายกัดนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาการเริ่มต้นของเด็กที่ติดเชื้อ ได้แก่

  • ไอ
  • ท้องเสีย
  • เป็นไข้
  • อาเจียน

กรณีผู้ใหญ่ติดเชื้อจะมีไข้นาน 2 สัปดาห์ – 2 เดือน พร้อมอาการอ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร กรณีรุนแรงที่เกิดขึ้นได้แก่

  • น้ำหนักลด
  • มีภาวะพร่องเม็ดเลือดทุกชนิด (Pancytopenia)
  • ตับและม้ามโต (Hepatosplenomegaly)
  • มีไข้เป็นสัปดาห์ เมื่อหายไข้แล้วอาจกลับมาเป็นอีกพักๆ
  • มีระดับแกมมากลอบูลินในเลือดสูง (Hypergammaglobulinemia)
  • รู้สึกไม่สบายในท้อง
  • ผมร่วง
  • ผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นสีดำ บางรายที่หายแล้วจะมีผื่นหรือสีผิวเปลี่ยนไปอย่างถาวร
  • ไตจะถูกทำลายจนอาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อลำไส้และปอดด้วย

อาการของโรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง (Cutaneous leishmaniasis = CL) ได้แก่

  • มีแผลที่ผิวหนังบริเวณที่ถูกริ้นฝอยทรายกัด ลักษณะเป็นแผลขอบนูน เป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ อาจดูคล้ายสิว หูด (Warts) หรือ สะเก็ดเงิน (Psoriasis)
  • หายใจลำบาก
  • คัดจมูก มีเลือดกำเดา (Nosebleed)
  • กลืนลำบาก
  • เป็นแผลในปาก ลิ้น เหงือก ริมฝีปาก และจมูก

สำหรับอาการของโรคลิชมาเนียที่เยื่อบุ (Mucosal leishmaniasis = ML) นั้น พบได้น้อยกว่า 2 ชนิดแรก โดยผู้ป่วยจะเป็นแผลบริเวณเยื่อบุจมูก ปาก และกล่องเสียง (Larynx) อาจเกิดตุ่มเล็กๆ (Nodule) ในจมูก ผนังกั้นจมูกเป็นรู จมูกหรือริมฝีปากบวม และหากกระทบถึงกล่องเสียงจะทำให้เสียงเปลี่ยนได้

แหล่งข้อมูล

  1. Leishmaniasis facts. http://www.medicinenet.com/leishmaniasis/article.htm#leishmaniasis_facts [2015, April 25].
  2. Leishmaniasis.
  3. Leishmaniasis facts. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001386.htm [2015, April 25].