“โรคลิชมาเนีย” โรคอุบัติใหม่ (ตอนที่ 2)

โรคลิชมาเนีย โรคอุบัติใหม่

โรคลิชมาเนีย (Leishmania) หรือ โรคลิชมาเนียซิส (Leishmaniasis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากปรสิต (Parasite) ที่ก่อโรคในมนุษย์มีอยู่มากกว่า 20 สายพันธุ์ (Species) เกิดจากการถูกริ้นฝอยทราย (Phlebotomine sand fly) เพศเมียที่มีเชื้อลิชมาเนียกัด โดยปกติจะพบเชื้อในประเทศเขตร้อน แต่ที่มีการแพร่กระจายไปทั่ว เกิดจากการที่ผู้คนมีการเดินทางระหว่างประเทศ

บางกรณี (แต่พบน้อยมาก) โรคลิชมาเนียอาจติดต่อด้วยการถ่ายเลือด (Blood transfusion) หรือ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือทารกอาจได้รับเชื้อจากแม่ที่ตั้งครรภ์

มีการประมาณว่าในแต่ละปีมีคนป่วยด้วยโรคนี้ประมาณ 1.3 ล้านคน และมีจำนวน 20,000 – 30,000 คน ที่เสียชีวิต

โรคลิชมาเนียแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ตามบริเวณที่เกิดในร่างกาย ซึ่งได้แก่

  1. โรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายใน (Visceral leishmaniasis = VL) หริอเรียกว่า กาลาอะซาร์ (Kala azar) โรคชนิดนี้หากทิ้งไว้ไม่รักษา อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยมีการประมาณว่า มีคนเป็นโรคติดเชื้อชนิดนี้ประมาณ 200,000 – 400,000 คน ต่อปี และมากกว่าร้อยละ 90 จะพบได้ในประเทศบังคลาเทศ บราซิล เอธิโอเปีย อินเดีย ซูดาน
  2. โรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง (Cutaneous leishmaniasis = CL) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด โดยมีการประมาณว่า มีคนเป็นโรคติดเชื้อชนิดประมาณ 7 แสน – 1.3 ล้านคน ต่อปี ประมาณร้อยละ 95 พบในทวีปอเมริกา แถบเมดิเตอร์เรเนียน ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง โดย 2/3 พบที่ประเทศอัฟกานิสถาน แอลจีเรีย บราซิล โคลัมเบีย อิหร่าน และ ซีเรีย
  3. โรคลิชมาเนียที่เยื่อบุ (Mucosal leishmaniasis = ML) ประมาณร้อยละ 90 พบในประเทศโบลิเวีย บราซิล และเปรู

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคลิชมาเนีย ได้แก่

  1. สภาพเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic conditions) – สภาพความยากจนจะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ สาธารณสุขที่แย่อาจทำให้ตัวริ้นเพิ่มจำนวนมากขึ้น และคนที่นอนนอกบ้านหรือบนดินก็มีความเสี่ยงมากขึ้น
  2. ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) - อาหารที่ปราศจากโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินเอ และสังกะสี จะเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อที่จะแสดงอาการได้
  3. การเคลื่อนย้ายของประชากร (Population mobility) – การย้ายถิ่นฐานและการเดินทางไปยังแหล่งที่มีการแพร่ของเชื้อจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง
  4. การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม – การบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรไปอยู่ในเขตป่าก็เพิ่มความเสี่ยงได้
  5. การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ - โรคลิชมาเนียจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate-sensitive) กล่าวคือ
    • การเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิ ฝน และความชื้น ล้วนมีผลกระทบต่อการเป็นตัวนำโรคและแหล่งเพาะโรค เพราะมีผลต่อการมีชีวิตและจำนวนประชากรของริ้น
    • ความแห้งแล้ง ทุพภิกขภัย และน้ำท่วม มีผลให้คนอพยพย้ายถิ่นโดยนำเชื้อติดไปด้วย

แหล่งข้อมูล

  1. Leishmaniasis facts. http://www.medicinenet.com/leishmaniasis/article.htm#leishmaniasis_facts [2015, April 24].
  2. Leishmaniasis. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs375/en/ [2015, April 24].