โรคมะเร็งในหญิงมีครรภ์ (Cancer in pregnancy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคมะเร็งในหญิงมีครรภ์ หรือ มะเร็งในหญิงตั้งครรภ์ (Cancer in pregnancy หรือ Cancer during pregnancy)คือ โรคมะเร็งทุกชนิดที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ ทั้งนี้ สมาคม อายุรแพทย์โรคมะเร็งแห่งสหภาพยุโรป (European Society for Medical Oncology ย่อว่า ESMO) ให้นิยามว่า ‘คือโรคมะเร็งที่เกิดในหญิงตั้งครรภ์ที่แพทย์สามารถวินิจฉัยพบนับจากวันแรกของการตั้งครรภ์ไปจนถึง 1 ปี หลังการคลอด’

มะเร็งในหญิงมีครรภ์ พบทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ แต่พบน้อยมาก ในแต่ละปีพบประมาณ 1รายต่อการตั้งครรภ์ 1,000 ราย คิดเป็นประมาณ 0.07% to 0.1%ของมะเร็งทั้งหมด

ปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะพบมะเร็งในหญิงมีครรภ์ได้สูงขึ้น จากที่ผู้หญิงแต่งงานและตั้งครรภ์ในอายุที่มากขึ้นกว่าในสมัยก่อนมาก, ร่วมกับมะเร็งหลายชนิดเกิดในคนอายุน้อยโอกาสตั้งครรภ์ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจึงสูงขึ้น

โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงมีครรภ์ คือ มะเร็งที่สามารถพบในหญิงที่อายุต่ำกว่า 35-40 ปี(วัยเจริญพันธ์) ซึ่งที่พบบ่อย คือ

  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งระบบโรคเลือด เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา/มะเร็งไฝ
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์

ดังนั้น โรคมะเร็งอื่นๆที่มักเกิดในคนอายุ 45-50 ปีขึ้นไปที่ไม่ใช่วัยเจริญพันธ์ จึงไม่ค่อยพบเกิดร่วมกับการตั้งครรภ์

โรคมะเร็งในหญิงมีครรภ์ต่างจากโรคมะเร็งทั่วไปอย่างไร?

โรคมะเร็งในหญิงมีครรภ์

มะเร็งในหญิงตั้งครรภ์ ทั่วไปจะมีธรรมชาติของโรคเช่นเดียวกับมะเร็งชนิดเดียวกันที่เกิดเมื่อไม่ได้ตั้งครรภ์ ดังนั้น สาเหตุ, อาการ, วิธีวินิจฉัยโรค, ระยะโรค, แนวทางการรักษา, ผลข้างเคียงจากการรักษา, การดูแลตนเอง , จึงเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ป่วยฯจะมีปัญหาที่เพิ่มเติมไม่เหมือนช่วงไม่ได้ตั้งครรภ์ 2 ประ การหลัก คือ

  • มีภาวะฮอร์โมนเพศที่เกิดจากการตั้งครรภ์
  • และการมีทารกในครรภ์ที่ทารกต้องพึ่งพาสุขภาพของมารดา นอกจากนั้น เซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะของทารกในครรภ์ ยังเป็นเซลล์ตัวอ่อน ยังเป็นเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่กำลังมีการเจริญเติบโตอย่างสูง จึงไวต่อผลกระทบต่างๆที่จะก่อให้เกิดความพิการและการเสียชีวิตได้ง่าย เช่น จากยาต่างๆที่มารดาใช้ในการรักษาพยาบาล ที่รวมถึง ยาสลบถ้ามีการผ่าตัด, ยาเคมีบำบัด, และรังสีรักษา
  • นอกจากนี้ ในโรคมะเร็งชนิดที่มีธรรมชาติของโรคสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ เช่น โรคมะเร็งเต้านม, และโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา/ มะเร็งไฝ, ซึ่งมะเร็งเหล่านี้อาจมีความรุนแรง คือลุกลามแพร่กระจายได้สูงกว่าในช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็ง แพทย์จำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งมารดาและทารกในครรภ์ด้วยเสมอ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งในขณะตั้งครรภ์มีความยุ่งยากซับซ้อน และแพทย์จำเป็นต้องพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป ตามปัจจัยที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ที่นอกเหนือไปจากปัจจัยด้านโรค (เช่น ระยะโรค ชนิดเซลล์มะเร็ง) ซึ่งปัจจัยดังกล่าว เช่น อายุผู้ป่วย, อายุครรภ์, ความต้องการบุตรของผู้ป่วยและครอบครัว เป็นต้น

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์ เช่นเดียวกับในมะเร็งชนิดเดียวกันของหญิงทั่วไป ไม่มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะ เพียงแต่ช่วงเวลาเกิดโรคมาเกิดพ้องกันเท่านั้นเอง เช่น สาเหตุ/ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในหญิงตั้งครรภ์ จะเช่นเดียวกับในโรคมะเร็งเต้านมของหญิงทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ เป็นต้น

โรคมะเร็งในหญิงมีครรภ์มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์ ขึ้นกับแต่ละชนิดของโรคมะเร็งซึ่งเช่นเดียวกับ อาการของโรคมะเร็งชนิดนั้นๆในหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ทุกประการ เพียงแต่โรคเกิดในช่วงตั้งครรภ์เท่านั้น เช่น โรคมะเร็งเต้านมของหญิงตั้งครรภ์ครรภ์ ก็จะมีอาการเช่นเดียวกับโรคมะเร็งเต้านมของหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือโรคมะเร็งปากมดลูกของหญิงตั้งครรภ์ ก็จะมีอาการเหมือนกับโรคมะเร็งปากมดลูกของหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งในหญิงมีครรภ์อย่างไร?

ขั้นตอนและวิธีในการวินิจฉัยโรคมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์เช่นเดียวกับในหญิงไม่ตั้งครรภ์ ที่สำคัญคือ การวินิจฉัยที่แน่นอน ได้จากการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหรือจากแผลที่สงสัยโรคมะเร็งเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เช่นเดียวกัน

ดังนั้น การวินิจฉัยโรคฯจึงเริ่มจาก อาการ, อายุผู้ป่วย ,ประวัติเพศสัมพันธ์, ประวัติ ประวัติประจำเดือน, การตรวจร่างกาย, การตรวจเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่มีอาการ เช่น การตรวจคลำเต้านมเมื่อมีก้อนที่เต้านม หรือการตรวจภายในเมื่อมีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เป็นต้น

ถ้าผู้ป่วยไม่แน่ใจเรื่องประวัติประจำเดือน และ/หรือมีประวัติประจำเดือนคลาดเคลื่อน และยังไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ แพทย์จะตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์

ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ มักไม่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ถึงแม้มีการตัดชิ้นเนื้อ ก็มักเป็นการฉีดยาชาเฉพาะที่เท่านั้น

แต่ปัญหาจะอยู่ที่ การตรวจสืบค้นเพื่อประเมินระยะโรคมะเร็ง เพราะโดยปกติมักจำเป็น ต้องมีการถ่ายภาพเอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน เพื่อตรวจการลุกลามแพร่กระจายของโรคมะเร็ง ซึ่งรังสีเอกซ์/รังสีไอออนไนซ์/Ionizing radiation (รังสีจากการตรวจโรค) อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ให้เกิดความพิการได้ ดังนั้นโดยทั่วไป แพทย์มักชะลอการตรวจด้วยรังสีไอออนไนซ์ออกไปก่อน จนกว่าจะจำเป็นจริงๆ หรือจนภายหลังการคลอดแล้ว โดยอาจเลือกวิธีตรวจแทนด้วย อัลตราซาวด์ หรือ เอมอาร์ไอ ที่มีผลต่อทารกในครรภ์น้อยกว่า แต่ทั้งนี้ แพทย์จะพูดคุย ปรึกษากับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยเป็นรายๆไป

ดังนั้นในหญิงตั้งครรภ์ เมื่อเป็นมะเร็ง บ่อยครั้งที่การประเมินระยะโรคจะไม่ครบถ้วน เนื่องจากต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการตรวจสืบค้นต่อทารกในครรภ์ ควบคู่กันไปกับสุขภาพของมารดาเสมอ

โรคมะเร็งในหญิงมีครรภ์มีการจัดระยะโรคอย่างไร?

การจัดระยะโรคในมะเร็งในหญิงมีครรภ์ เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดเดียวกันในกรณีที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

แต่บ่อยครั้งที่การตรวจสืบค้นเพื่อจัดระยะโรคจะล่าช้าโดยเฉพาะเมื่อต้องการตรวจภาพอวัยวะต่างๆด้วยรังสีเอกซ์ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘รังสีจากการตรวจโรค’) เนื่องจากแพทย์ต้องคำนึงถึงผลกระทบของการตรวจต่อทารกในครรภ์ด้วย

รักษาโรคมะเร็งในหญิงมีครรภ์อย่างไร?

แนวทางการรักษาหลักของโรคมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์ จะเช่นเดียวกับในหญิงที่ไม่ได้ตั้ง ครรภ์ กล่าวคือ วิธีรักษา จะยังคงเป็น การผ่าตัด, ยาเคมีบำบัด, รังสีรักษา, และ/หรือยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง เพียงแต่ในการรักษาโรค นอกจากต้องคำนึงถึงโรคของมารดาแล้ว แพทย์ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของทารกในครรภ์ด้วย

ในด้านโรคของมารดา แพทย์ต้องคำนึงถึงว่า มารดามีอาการอย่างไร, เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะอะไร, เป็นมะเร็งชนิดใด, เป็นมะเร็งระยะที่เท่าใด (อาจเป็นระยะโรคโดยประมาณ), อายุของมารดา, สุขภาพกายและสุขภาพจิตของมารดา, ความต้องการบุตรของครอบครัว, เช่น การเป็นครรภ์แรกหรือมีบุตรเพียงพอกับความต้องการแล้ว

ในด้านทารกในครรภ์ แพทย์ต้องทราบระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ได้แก่

  • การตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกที่เซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะทุกส่วนของทารกจะไวมากที่สุดต่อผลจากยาต่างๆรวมทั้งยาสลบ, ยาเคมีบำบัด, รังสีรักษา, และยารักษาตรงเป้า
  • อายุครรภ์ในช่วง 4-6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ทารกสามารถที่จะทนต่อยาเคมีบำบัด และ/หรือ ยารักษาตรงเป้าบางชนิดได้ และ
  • อายุครรภ์อยู่ในช่วงเกิน 6 เดือนแล้ว หรือน้ำหนักทารกในครรภ์มากพอที่แพทย์จะทำคลอดก่อนกำหนดที่ทารกจะมีความปลอดภัยสูง ไม่ต่างจากการคลอดในอายุครรภ์ครบปกติมากนัก

ดังนั้น วิธีรักษาที่สามารถให้ได้ในช่วงตั้งครรภ์ที่ส่งผลกระทบถึงทารกน้อยที่สุด คือ การผ่าตัด, การให้ยาเคมีบำบัดบางชนิด, ยารักษาตรงเป้าก็จะขึ้นกับแต่ละชนิดยาเช่นเดียวกับยาเคมีบำบัด, ส่วนรังสีรักษา มักเลือกรักษามารดาต่อเมื่อทารกได้คลอดเรียบร้อยแล้ว,

สรุป: ในการรักษาโรคมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์ แพทย์จะเลือก

  • การผ่าตัดเป็นวิธีหลัก
  • แล้วพิจารณายาเคมีบำบัด และ/หรือยารักษาตรงเป้า ตามความเหมาะสมกับอายุครรภ์และกับธรรมชาติของโรคมะเร็ง
  • ส่วนรังสีรักษา มักจะใช้ต่อเมื่อมารดาได้คลอดทารกแล้ว
  • ซึ่งโดยทั่วไป ภายหลังทารกคลอดแล้ว แพทย์มักจะประเมินระยะโรคมะเร็งของมารดาอีกครั้ง แล้วทบทวนการรักษาใหม่ให้เหมาะสมต่อไป

โรคมะเร็งในหญิงมีครรภ์รุนแรงไหม?

โดยทั่วไป เมื่อเปรียบเทียบระยะโรคต่อระยะโรคแล้ว โรคมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์จะมีความรุนแรงของโรคเช่นเดียวกับในหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้ในภาพรวมโรคมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์ มีแนวโน้มที่จะมีผลการรักษาต่ำกว่าในหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ด้วยเหตุผลว่า ในหญิงตั้งครรภ์

  • มักพบโรคในระยะที่รุนแรงกว่า เนื่องจากผู้ป่วยมักนึกไม่ถึงว่าจะเป็นโรคมะเร็ง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และ สรีรวิทยา/การทำงานของอวัยวะต่างๆ มักจะบดบังอาการแต่แรกของโรคมะเร็ง เช่น การขยายใหญ่ ตึง ของเต้านม ผู้ป่วยจึงไม่ได้สังเกตถึงการมีก้อนเนื้อในเต้านมเมื่อก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็ก เป็นต้น
  • มักได้รับการวินิจฉัยและการรักษาล่าช้ากว่า เนื่องจากต้องคำนึงถึงผลกะทบต่อทารกในครรภ์, ผู้ป่วยและครอบครัวไม่พร้อม เนื่องจากการกระทบกระเทือนทางด้านอารมณ์/จิตใจ
  • การรักษาที่ถูกต้อง มักเริ่มได้ช้ากว่า เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทารกในครรภ์, ผู้ป่วยและครอบครัวไม่พร้อม เนื่องจากการกระทบกระเทือนทางด้านอารมณ์/จิตใจ

มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์ จะแบ่งเป็น ผลข้างเคียงต่อมารดา และผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์

ก. ผลข้างเคียงต่อมารดา: จะเช่นเดียวกับในการรักษาโรคมะเร็งแต่ละโรคในหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความในเว็บ haamor.com ในเรื่องโรคมะเร็งแต่ละโรค เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, นอกจากนั้น คือ มีโอกาสการแท้งบุตรสูงกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป

ข. ผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ คือ การแท้งบุตร , การคลอดก่อนกำหนด, ทารกน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์, และความพิการของทารก

ทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคมะเร็งจะเป็นอย่างไร?

ทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคมะเร็ง จะไม่แตกต่างจากทารกทั่วไป ทั้งในด้านการเจริญเติบโต, สติปัญญา, โรคต่างๆ, รวมทั้งโอกาสเกิดความผิดปกติแต่แรกเกิด, และโอกาสเกิดโรคมะเร็ง, ก็เช่นเดียวกับทารกทั่วไป

การดูแลทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคมะเร็ง ก็เช่นเดียวกับในทารกทั่วไปที่มีภาวะผิดปกติ/โรคเช่นเดียวกัน

มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์ไหม?

ปัจจุบัน ไม่มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากโอกาสเกิดโรคมีน้อย และวิธีตรวจต่างๆอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆโดยเฉพาะการคลำพบก้อน หรือการมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดตรวจครรภ์เสมอ

ส่วนเมื่อทราบว่า เป็นมะเร็งในช่วงตั้งครรภ์ การดูแลตนเอง คือ

  • ตั้งสติ พูดคุยปรึกษากับครอบครัว รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้ได้การวินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็ว
  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • การดูแลตนเองอื่นๆ เช่นเดียวกับการดูแลตนเองในแต่ละโรคมะเร็ง อ่านเพิ่มเติมได้จากเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง
    • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง)
    • และเรื่อง การดูแลตนเองการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด(การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด)

ป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งช่วงตั้งครรภ์ได้ไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งเพื่อไม่ให้เกิดในช่วงตั้งครรภ์ การป้องกันจะเป็นการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งแต่ละชนิดเช่นเดียวกับในหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ อ่านเพิ่มเติมได้ในบท ความโรคมะเร็งต่างๆในเว็บ haamor.com เช่น

  • โรคมะเร็งเต้านม
  • โรคมะเร็งปากมดลูก
  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

อีกวิธีป้องกัน คือ เมื่ออยู่ในวัยเจริญพันธ์และสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง หรือกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยที่รวมถึงการรักษา ผู้ป่วยในวัยเจริญพันธ์ต้องคุมกำเนิดให้ได้ดีเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ทั่วไป แพทย์ไม่แนะนำการใช้ยาคุมกำเนิดเพราะอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาเคมีบำบัด และ/หรือยารักษาตรงเป้า วิธีคุมกำเนิดที่ดีที่สุด คือปรึกษาแพทย์ผู้รักษาและสูตินรีแพทย์ ที่อาจแนะนำการคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยชาย หรือ อาจเป็น การใส่ห่วงคุมกำเนิด(IUD) หรือต้องใช้ทั้ง2วิธีร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิผลสูงสุดในการคุมกำเนิด ดังนั้นสามีผู้ป่วยควรต้องเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

บรรณานุกรม

  1. Hepner, A. World J Oncol. 2019; 10(1): 28–34
  2. Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins
  3. https://www.cancer.ca/en/cancer-information/diagnosis-and-treatment/cancer-during-pregnancy/?region=on [2019,Sept7]
  4. ESMO Open.(2016). https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5070264/ [2019,Sept7]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Cancer [2019,Sept7]
  6. https://www.uptodate.com/contents/gestational-breast-cancer-epidemiology-and-diagnosis [2019,Sept7]