โรคมะเร็งเน็ต โรคฮิตใหม่! (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

รศ. พญ. นฤมล คล้ายแก้ว ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจำแนกมะเร็งเน็ต (NET = Neuro-endocrine Tumor) ตามลักษณะอาการที่แสดงออก เป็น (1) ชนิดที่มีอาการ และ (2) ชนิดที่ไม่มีอาการ กลุ่มที่มีอาการเป็นผลมาจากฮอร์โมนที่หลั่งมาจากเนื้องอก เช่น มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย

ส่วนพวกที่ไม่มีอาการอาจจะมาพบแพทย์ เนื่องจากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการกดทับหรืออุดตัน อึดอัดแน่นท้อง หรือคลำเจอก้อนได้ มะเร็งชนิดนี้ยังยากต่อการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะมีอาการคล้ายโรคทั่วไปอื่นๆ เช่น ท้องเสียหรือถ่ายบ่อย คล้ายโรคลำไส้แปรปรวน จึงทำให้แพทย์อาจสันนิษฐานว่าเป็นโรคชนิดอื่นได้

ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO = The World Health Organization) ได้แบ่งก้อนเนื้องอกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • Neuro-endocrine tumors (NETs): เป็นระดับการพัฒนาที่เซลล์เนื้อร้ายยังคงมีลักษณะคล้ายเซลล์ปกติ (Well-differentiated neoplasms) แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ Grade 1 (G1) and Grade 2 (G2) โดยดูจากอัตราการแบ่งตัวของเซลล์ (Proliferation) และลักษณะของเนื้อเยื่อ (Histology)
  • Neuro-endocrine carcinomas: เป็นระดับที่เซลล์เนื้อร้าย มีการแบ่งตัวผิดปกติมาก(Poorly differentiated neuroendocrine neoplasms) ที่เรียกว่า Grade 3 (G3)

มะเร็งเน็ตมีหลายชนิดและมีชื่อเรียกต่างกันไป ขึ้นกับอวัยวะหรือเซลล์ที่เกิดโรค ส่วนใหญ่มะเร็งเน็ตจะเกิดที่ลำไส้ (Intestine) หรือตับอ่อน (Pancreas) บางทีก็รวมกันอยู่เป็นกลุ่มเรียกว่า Gastro-entero-pancreatic neuro-endocrine tumours หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า GEP NET โดย GEP NET สามารถแยกย่อยได้เป็น 2 ชนิด คือ Carcinoid tumors ซึ่งทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Carcinoid syndrome และ Pancreatic endocrine tumors (PETs)

[Carcinoid syndrome เป็นกลุ่มของอาการที่เกิดจากก้อนเนื้องอกมีผลกระทบต่อการหลั่งของฮอร์โมน ซึ่งมีลักษณะดังนี้: หน้าแดง (Flushing) ท้องเสีย (Diarrhea) เป็นโรคหืด (Asthma) หรือหายใจลำบากและมีเสียงหวีด (wheezing) ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure : CHF) ปวดท้องแบบปวดบีบ (Abdominal cramping) บวมตาม แขนขา (Peripheral edema) ใจสั่น (Heart palpitations)]

การตรวจหามะเร็งเน็ตทำได้โดยวิธีการใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพ (Biomarkers) เช่น ดูค่า Chromogranin A (CgA) ค่า 5-Hydroxyindoleacetic acid (5-HIAA) ค่า Plasma neuronal specific enolase (NSE) หรือการถ่ายภาพ Imaging โดยใช้เครื่องซีทีสแกน /เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT = Computed tomography ) เครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI = Magnetic resonance imaging) เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การส่องกล้องตรวจในข้อ (Endoscopy)

สำหรับการรักษา รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชี้ว่าทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การให้ยาที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกฤทธิ์แบบยิงตรงเป้า โดยพบว่าการผ่าตัดเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาให้โรคนี้หายขาดได้ ซึ่ง การผ่าตัดจะทำได้หลายแบบ เช่น ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งที่เป็นต้นกำเนิดออกทั้งหมด หรือผ่าตัดเอาก้อนออกให้ได้มากที่สุด เพราะจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย แม้จะมีการแพร่กระจายของก้อนมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง หรือตับแล้วก็ตาม นอกจากการผ่าตัดยังมีการรักษาด้วยยา การรักษาโรคมะเร็งเน็ตต้องอาศัยการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม โดยทีมแพทย์สหสาขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องเร็วขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือนภัยโรคมะเร็งเน็ต แนวโน้มผู้ป่วยยอดพุ่ง http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1357629364&grpid=03&catid=12&subcatid=1203 [2013, January 17].
  2. Neuroendocrine tumors are complex malignancies. http://www.neuroendocrinetumor.com/health-care-professional/facts-about-nets.jsp [201January 17].
  3. Neuroendocrine tumor. http://en.wikipedia.org/wiki/Neuroendocrine_tumor [201January 17].