โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา (Ocular melanoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา หรือมะเร็งเมลาโนมาของตา(Ocular melanoma) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ (Melanocyte) ซึ่งทั่วไปมีอยู่มากมายในผิวหนัง โดยเป็นเซลล์ที่สร้างเม็ดสีให้กับผิวหนัง แต่ก็สามารถพบเซลล์นี้ได้บ้างในเนื้อเยื่อบางชนิดของลูกตา และในเยื่อเมือกของอวัยวะต่างๆ ซึ่งเซลล์ชนิดนี้เมื่อกลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็งไม่ว่าจะเกิดขึ้นณจุดใด จะเรียกว่า เป็น “โรคมะเร็งเมลาโนมา (Melanoma หรือ Malignant melanoma)” ซึ่งเมื่อเกิดในลูกตา จะเรียกว่า ‘ มะเร็งลูกตาเมลาโนมา(Ocular melanoma)’

ดังนั้น ‘มะเร็งเมลาโนมา’ จึงพบเกิดได้กับ

  • ‘ผิวหนัง’ เรียกว่า ‘โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา’ ซึ่งผิวหนังเป็นตำแหน่งที่พบเกิดโรคมะเร็งเมลาโนมาได้สูงกว่าเนื้อเยื่อ/ อวัยวะตำแหน่งอื่นๆ
  • เมื่อเกิดกับ’เยื่อเมือก’ เรียกว่า ‘โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา’ ซึ่งเป็นมะเร็งพบได้น้อยมาก เช่น เกิดที่ทวารหนัก
  • และเมื่อเกิดกับ’ตา/ลูกตา’ เรียกว่า ‘โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา’ ซึ่งเป็นมะเร็งพบได้น้อยเช่นกัน

ทั้งนี้ โรคมะเร็งเมลาโนมาทั้ง 3 ตำแหน่งนี้ มีธรรมชาติของโรคต่างกันบ้าง โดย

  • มะเร็งฯที่เกิดในลูกตา จะมีความรุนแรงโรคปานกลาง
  • มะเร็งฯที่เกิดในผิวหนังจะมีความรุนแรงโรคสูง
  • และมะเร็งฯที่เกิดในเยื่อเมือกจะมีความรุนแรงโรคสูงสุด

ซึ่งได้แยกเขียนมะเร็งทั้ง 3 ตำแหน่ง ต่างหากในแต่ละบทความ โดยในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ “โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา “เท่านั้น

โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา เป็นโรคที่พบน้อยมาก โดยในแต่ละปี สถิติจากสหรัฐอเมริกาจะพบผู้ป่วยได้ประมาณ 6 รายต่อประชากร 1 ล้านคน เป็นโรคของผู้ใหญ่ มักพบในอายุตั้ง แต่ 55 ปี ขึ้นไป มีรายงานพบในเด็กโตได้บ้างเป็นครั้งคราว ผู้หญิงและผู้ชาย มีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน และยังไม่มีรายงานสถิติที่ชัดเจนของโรคนี้ในประเทศไทยเพราะมักรายงานรวมอยู่ในมะเร็งเมลาโนมาทั้งหมด

โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา พบเกิดได้ใน 2 ตำแหน่งของลูกตา คือ

  • ที่ผนังลูกตาชั้นกลาง (Uvea ซึ่งได้แก่ เนื้อเยื่อ ม่านตา, คอรอยด์, ซิลิอะรีบอดี/Ciliary body แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา) ซึ่งเรียกว่า ‘โรคมะเร็งเมลาโนมาของผนังลูกตาชั้นกลาง (Uveal melanoma)’ มะเร็งฯตำแหน่งนี้ พบได้ประมาณ 98%ของมะเร็งลูกตาเมลาโนมาทั้งหมด และมะเร็งเมลาโนมาที่ผนังลูกตาชั้นกลางนี้ เกือบทั้งหมดประมาณ 90% เกิดกับเนื้อเยื่อที่เรียกว่า คอรอยด์ (Choroid) ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า ‘โรคมะเร็งเมลาโนมาคอรอยด์ (Choroidal melanoma)’ ที่เหลือประมาณ 10% เกิดกับเนื้อเยื่ออื่นๆของผนังลูกตาชั้นกลาง
  • และที่เยื่อตา/เยื่อบุตา (Conjunctiva) เรียกว่า ‘โรคมะเร็งเมลาโนมาของเยื่อตา (Conjunctival melanoma)’ ซึ่งมะเร็งฯตำแหน่งนี้พบได้ประมาณ 2%ของมะเร็งลูกตาเมลาโนมาทั้งหมด

โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมามีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเมลาโนมาลูกตา แต่พบผู้มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • คนผิวขาว
  • คนผิวบาง
  • คนที่มีตาสีฟ้า
  • ผมแดง
  • มีไฝ หรือมีกระ ตามลำตัวมากกว่า 100 จุดขึ้นไป

โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมามีอาการอย่างไร?

อาการของมะเร็งลูกตาเมลาโนมา คือ

1. อาการของโรคมะเร็งเมลาโนมาที่เกิดในผนังลูกตาชั้นกลาง: ได้แก่ ไม่มีอาการเมื่อก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็ก แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพตาประจำปี

แต่เมื่อก้อนเนื้อโตขึ้น อาการที่พบได้ ซึ่งไม่เป็นอาการเฉพาะเจาะจง แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคตาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น

  • มองเห็นภาพไม่ชัด/ตามัว
  • ปวดตา
  • ตาบวม จากก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้นจึงดันให้ตาบวมขึ้น
  • อาจมีต่อมน้ำเหลืองหน้ารูหู และ/หรือที่ลำคอด้านเดียวกับโรค โต คลำได้

2. อาการของโรคมะเร็งเมลาโนมาที่เกิดที่เยื่อตา เช่น

  • มองเห็นเป็นเนื้อเยื่อ/ก้อนเนื้อสีน้ำตาล หรือสีดำในตาขาว โดยก้อนเนื้อโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อก้อนเนื้อโตขึ้น
    • อาจก่อการระ คายเคืองต่อตาส่งผลให้น้ำตาไหลผิดปกติ
    • และเมื่อก้อนเนื้อโตเข้าไปในตาดำ จะส่งผลรบกวนการมองเห็นภาพ
    • และเมื่อโรคลุกลามมาก อาจมีต่อมน้ำเหลืองหน้ารูหู และ/หรือที่ลำคอด้านเดียวกับโรค โต คลำได้

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมาได้โดย

ก. มะเร็งเมลาโนมาของผนังลูกตาชั้นกลาง: แพทย์วินิจฉัยโรคได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ซึ่งที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการของผู้ป่วย
  • การตรวจตาขั้นพื้นฐาน และด้วยเทคนิคเฉพาะต่างๆ
  • และการตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง ที่หน้ารูหู และที่ลำคอ
  • ซึ่งผู้ป่วยเกือบทุกราย รูป/ ลักษณะก้อนเนื้อที่มองเห็นจากเครื่องมือตรวจตา จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่รูป/ลักษณะก้อนเนื้อไม่ชัดเจน จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือ การตรวจทางเซลล์วิทยา ร่วมด้วย ทั้งนี้เพราะการตัดชิ้นเนื้อ หรือ เจาะ ดูด เซลล์จากก้อนเนื้อภายในลูกตาเป็นหัตถการที่ทำได้ยากมาก

ข. ส่วนโรคมะเร็งเมลาโนมาของเยื่อตา: แพทย์วินิจฉัยได้จาก

  • ประวัติทางการแพทย์เช่นกัน ที่สำคัญคือ ประวัติอาการอาการผู้ป่วย
  • การตรวจตา ซึ่งแพทย์จะพบก้อนเนื้อในเยื่อตา
  • ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อนั้นเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมามีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา มีการแบ่งระยะโรค ดังนี้

ก. การจัดระยะโรคของมะเร็งเมลาโนมาผนังลูกตาชั้นกลาง: ระยะโรคขึ้นกับชนิดของเนื้อเยื่อของผนังลูกตาชั้นกลาง เช่น ระยะโรคของม่านตา, ระยะโรคของเนื้อเยื่อคอรอยด์ ซึ่งแต่ละระยะโรคจะละเอียดซับซ้อนมาก ใช้เฉพาะกับแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็งเท่านั้น เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วย เลือกวิธีรักษา การพยากรณ์โรค และเพื่อการศึกษา

ในบทความนี้ของยกตัวอย่างระยะโรค เฉพาะที่เกิดกับเนื้อเยื่อคอรอยด์เพราะเป็นชนิดพบได้บ่อย/เกือบทั้งหมด และขอสรุปให้พอเป็นที่เข้าใจของคนทั่วไป ดังนี้

  • ระยะที่ 1: โรคจำกัดอยู่เฉพาะที่คอรอยด์ และก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กไม่เกิน 6มม.
  • ระยะที่ 2: ก้อนฯมีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่า6มม.แต่ไม่เกิน9มม. ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงแต่ลุกลามขนาดไม่เกิน 5 มม. โดยแบ่งเป็น2ระยะย่อยตามการลุกลามของโรคที่เพิ่มขึ้น คือ ระยะ2A และระยะ2B
  • ระยะที่ 3: ก้อนเนื้อขนาดโตมากกว่า9มม. แต่ไม่เกิน15มม. และ/หรือลุกลามเข้าเปลือกลูกตา ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะย่อยตามการลุกลามของโรคที่เพิ่มขึ้น คือ ระยะ3A, ระยะ3B, และระยะ3C
  • ระยะที่ 4: โรคลุกลาม/แพร่กระจายเข้าสู่
    • ต่อมน้ำเหลือง และ/หรือ
    • แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต/เลือด ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักไปสู่ ตับ อาจพบไปที่อวัยวะอื่นๆได้บ้าง เช่น ปอด กระดูก และผิวหนัง

ข. ระยะของโรคมะเร็งเมลาโนมาของเยื่อตา: จะแตกต่างจากโรคมะเร็งชนิดอื่น โดยยังไม่มีการแบ่งเป็น ระยะ 1, 2, 3, 4 แต่ใช้การแบ่งเป็น TNM (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ระยะโรคมะเร็งทีเอนเอ็ม’) เช่น ระยะ T1N0M0 หรือ ระยะ T1N1M1 เป็นต้น โดย

  • T (ที) คือ ลักษณะก้อนเนื้อ (Tumor) แบ่งย่อยเป็น T1-T4
    • T1 โรคอยู่เฉพาะที่เยื่อตาส่วนตาขาว
    • T2 โรคลุกลามออกนอกเยื่อตาขาว แต่ยังอยู่ในลูกตา
    • T3 โรคลุกลามเข้าเบ้าตา เช่น หนังตา ไซนัส กระดูกเบ้าตา
    • T4 โรคลุกลามเข้าสมอง
  • N (เอน) คือ การลุกลามของโรคเข้าต่อมน้ำเหลือง (Node) โดยแบ่งย่อยเป็น N0-N1
    • N0 คือ คลำไม่พบต่อมน้ำเหลืองหน้ารูหู และ/หรือที่ลำคอ ด้านที่มีรอยโรค
    • N1 ต่อมน้ำเหลืองดังกล่าว โต คลำได้
  • M (เอ็ม) คือ การแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต (Metastasis) โดยแบ่งย่อยเป็น M0-M1
    • M0 คือ ยังไม่มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต
    • M1 คือ มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตแล้ว ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย พบได้บ่อยที่ ตับ ปอด กระดูก และอื่นๆ

*อนึ่ง เมื่อ T, N, หรือ M สูงขึ้น ความรุนแรงโรคก็ยิ่งสูงขึ้น

รักษาโรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา นอกจากเพื่อการหายขาดจากโรคแล้ว ยังเพื่อพยายามรักษาคุณภาพลูกตาเพื่อให้ผู้ป่วยยังสามารถมองเห็นได้ ดังนั้น จึงมักใช้การรักษาหลายวิธี ร่วมกัน โดยประเมินจาก

  • ขนาดก้อนมะเร็ง และการรุกราน/ลุกลามของก้อนมะเร็ง
  • ตำแหน่งที่เกิดของก้อนมะเร็ง
  • ระยะโรค
  • คุณภาพของการมองเห็นภาพ
  • โรคร่วมอื่นๆของลูกตา เช่น ต้อหิน
  • อายุ และสุขภาพผู้ป่วย

ดังนั้น แนวทางการรักษามะเร็งลูกตาเมลาโนมาจึงมักเป็น

  • การรักษาร่วมกันระหว่าง การผ่าตัด, การจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy), การใช้เลเซอร์ (Laser), รังสีรักษา อาจทั้งฉายรังสี และ/หรือใส่แร่
  • ส่วนการใช้ยาเคมีบำบัด มักให้ร่วมด้วยเมื่อโรคอยู่ในระยะลุกลาม หรือ แพร่กระจาย
  • ส่วนยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ที่รวมถึงการใช้ ภูมิคุ้มกันบำบัด / ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง กำลังมีการศึกษา(แต่ก็มีแพทย์หลายท่านนำมาใช้ทางคลินิกแล้ว) เพื่อใช้รักษาโรคระยะที่ลุกลามมาก และ/หรือแพร่กระจาย อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ เพียงแต่อาจช่วยชะลอการลุกลามของโรค นอกจากนั้น ยาเหล่านี้ยังมีค่าใช้จ่ายสูงมากๆๆ เกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้

มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไรบ้าง?

ผลข้างเคียง หรือ ผลแทรกซ้อนจากการรักษาโรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา ขึ้นอยู่กับวิธีรักษา โดยผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายๆวิธีรักษาร่วมกัน
  • ผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และ/หรือ โรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • และในผู้สูงอายุ

อนึ่ง: ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากวิธีรักษาต่างๆ คือ

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ แผลผ่าตัดเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ
  • การจี้ด้วยความเย็น หรือเลเซอร์: เช่น การติดเชื้อหรือเลือดออกที่แผลจี้ หรือที่ในลูกตา
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและเนื้อเยื่อส่วนได้รับรังสี (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา)
  • ยาเคมีบำบัด : เช่น อาการ คลื่นไส้อาเจียน, ผมร่วง, ภาวะซีด, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำซึ่งส่งผลให้เลือดออกได้ง่าย, และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
  • ยารักษาตรงเป้า : เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาฯบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย, แผลต่างๆติดยากเมื่อเกิดบาดแผล, และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมารุนแรงไหม?

โรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงโรคปานกลาง มีโอกาสรักษาได้หาย แต่การรักษามักยุ่งยาก เนื่องจากอาจมีการสูญเสียเสียสายตา/ตาบอดได้

ทั้งนี้ โดยทั่วไป

  • เมื่อโรคยังเกิดเฉพาะที่ ในระยะที่1,2 หรือ T1,T2 อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 70 -80%
  • เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น แต่ยัง’ไม่มี’การลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 40-45%
  • แต่เมื่อ มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสโลหิตแล้ว อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 0-5% โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน - 1 ปี

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมาไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งลูกตาเมลาโนมาให้พบตั้งแต่แรกที่ยังไม่ก่ออาการ ดังนั้น การดูแลตนเองของทุกคน คือ

  • สังเกตตาของตนเองเสมอ เมื่อเห็นมีแถบสี หรือเนื้อเยื่อผิดปกติ ควรรีบพบจักษุแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • นอกจากนั้น คือ การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นการตรวจตาทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงเพื่อการคัดกรองโรคมะเร็งของตา หรือตรวจตาบ่อยขึ้นตามที่จักษุแพทย์แนะนำเพื่อให้พบพยาธิสภาพของตาได้เร็วขึ้น

ป้องกันโรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมาอย่างไร?

เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา เป็นปัจจัยเสี่ยงทางเชื้อชาติ และพันธุกรรม ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีที่จะป้องกันโรคนี้

ดูแลตนเอง ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ที่รวมถึงมะเร็งลูกตาเมลาโนมาจะคล้ายกัน สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ตาบวมมากขึ้น เห็นภาพแย่ลงมาก
    • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น คลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่หน้ารูหู/ที่คอโต โดยไม่เคยมีมาก่อน
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องผูก/ท้องเสีย เรื้อรัง วิงเวียนศีรษะมาก
    • กังวลในอาการ

นอกจากนั้น แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดได้ในบทความในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • และเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual, 8 edition
  2. Kapoo, A. et al.(2016). Journal of the Egyptian National Cancer Institute.28(2):65- 72
  3. Damato, B., and Coupland, S. (2012). Ocular melanoma. Saudi Journal of Ophthalmology. 26: 137-144
  4. Shields, C. et al. (2011). Conjunctival melanoma. Ophthalmology.118, 389-395.
  5. Singh, A. et al. (2011). Uveal melanoma: Trends in incidence, treatment, and survival. Ophthalmology. 118, 1881-1885.
  6. Weiss,E. et al. Curr Oncol. 2016;23(1):e57-e64
  7. Yang,J. et al. Ther Adv Med Oncol. 2018; https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5824910/ [2019,Jan19]
  8. https://emedicine.medscape.com/article/1191840-overview#showall [2019,Jan19]
  9. https://www.cancer.org/cancer/eye-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019,Jan19]
  10. https://rarediseases.org/rare-diseases/ocular-melanoma/ [2019,Jan19]