โรคมนุษย์หมาป่า (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

คนทั่วไปมักมีความสับสนระหว่างโรคมนุษย์หมาป่าและภาวะขนดก (Hirsutism) เพราะภาวะขนดกมักเป็น Hypertrichosis ชนิดหนึ่งที่เกิดเฉพาะกับผู้หญิงและเด็ก เป็นผลมาจากการมีฮอร์โมนเพศชาย (Androgen) ที่มากเกินไป คนที่มีภาวะขนดกมักมีขนเหมือนผู้ชายขึ้นตามบริเวณหน้าอกและหลัง

ภาวะขนดกเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 10 ของผู้หญิงที่อายุระหว่าง 18-45 ปี เป็นได้ทั้งแต่กำเนิดและมาเป็นตอนโต เกี่ยวเนื่องกับการมีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ซึ่งอาจมีลักษณะของการเป็นสิว เสียงทุ้ม ประจำเดือนมาไม่ปกติ และมีรูปร่างอย่างผู้ชาย

หากภาวะขนดกมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนแอนโดรเจนที่สูง ก็สามารถรักษาได้ด้วยยาลดฮอร์โมน อย่างยาคุมกำเนิดบางชนิดและยา Spironolactone ก็สามารถใช้ลดระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนได้

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษาโรคมนุษย์หมาป่าที่เป็นแต่กำเนิดได้ ส่วนการรักษาโรคมนุษย์หมาป่าที่เป็นตอนโตนั้นขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดซึ่งมีหลายแหล่ง และมักจะรักษาด้วยการตัดต้นเหตุออกไป เช่น หยุดกินยาที่ทำให้มีผลข้างเคียง

อย่างไรก็ดี อาการของโรคมนุษย์หมาป่าสามารถทุเลาลงได้ด้วยการเอาขนออก ซึ่งมีทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร และอาจจะมีผลกระทบทำให้เกิดรอยแผลเป็น (Scarring) ผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) หรือ ภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity)

การเอาขนออกชั่วคราวอาจอยู่ได้หลายชั่วโมงหรือหลายสัปดาห์ขึ้นกับวิธีที่ใช้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เป็นการทำเพื่อความสวยงาม วิธีการกำจัดขนบนร่างกายที่เรียกว่า Depilation methods เช่น การตัด การโกน และการใช้ยาทำให้ขนร่วง (Depilatories) ฯลฯ มีผลแค่ระดับผิวหนังและอยู่ได้ไม่นานก็ขึ้นอีก ส่วนวิธีการกำจัดขนอีกวิธีเรียกว่า Epilation methods เช่น การถอน (Plucking) การแว๊กซ์ขนด้วยขี้ผึ้งหรือน้ำตาล (Waxing และ Sugaring) การถอนขนจากราก ฯลฯ ซึ่งก็อยู่ได้ไม่นานเช่นกัน

สำหรับวิธีการกำจัดขนอย่างถาวรนั้น จะใช้สารเคมี พลังงานต่างๆ พุ่งไปยังเซลล์ที่เป็นต้นเหตุให้ขนยาว การถอนขนด้วยเลเซอร์ (Laser hair removal) เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลกับขนที่มีสี แต่ใช้ไม่ได้กับขนสีขาว โดยเลเซอร์จะพุ่งไปยังเม็ดสี (Melanin) ที่อยู่ในระดับ 1/3 ของรูขุมขน นอกจากนี้ก็มีการกำจัดขนด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrolysis / Electrology) การสลายด้วยความร้อน (Thermolysis) ทั้งนี้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (Food and Drug Administration = FDA) ได้อนุญาตเฉพาะวิธีการกำจัดขนด้วยกระแสไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวเนื่องจากวิธีนี้สามารถใช้ได้กับขนทุกสี

สำหรับยาที่ใช้รักษาโรคมนุษย์หมาป่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบ โดยทางเลือกหนึ่งในการรักษาก็คือการยับยั้งฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ด้วยการเพิ่มโปรตีนที่ทำหน้าที่จับฮอร์โมนเพศทำให้ไม่สามารถออกฤทธิ์ (Sex hormone-binding globulin = SHBG) หรืออีกวิธีก็คือ การควบคุมลูติไนซิงฮอร์โมน (Luteinizing hormone = LH)

แหล่งข้อมูล:

  1. Hypertrichosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Hypertrichosis [2013, December 3].