โรคมนุษย์หมาป่า (ตอนที่ 2)

โรคมนุษย์หมาป่าที่เป็นแต่กำเนิด (Congenital hypertrichosis) อาจแบ่งออกเป็น

Congenital generalized hypertrichosis - ซึ่งทำให้ผู้ชายมีขนที่ใบหน้าและช่วงบนของร่างกายมากเกินปกติ ในขณะที่ผู้หญิงจะแสดงความรุนแรงน้อยกว่า ทั้งนี้ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และเยื่อบุผิวในช่องจมูกและปากที่สร้างน้ำเมือกหล่อลื่น (Mucous membranes) จะไม่ได้รับผลกระทบนี้

Congenital terminal hypertrichosis - จะมีลักษณะของขนเส้นใหญ่ หยาบยาว มีสี (Terminal hair) ซึ่งปกคลุมทั่วร่างกาย และมัก ทำให้เกิดภาวะเหงือกบวมโต (Gingival hyperplasia) โรคมนุษย์หมาป่าชนิดนี้จะเหมาะกับคำว่า "Werewolf syndrome" มากกว่าเพราะมีขนที่หนาและดำขึ้นเต็มไปหมด ด้วยลักษณะที่ผิดปกตินี้บางคนจะกลายเป็นนักแสดงของคณะละครสัตว์

[Terminal Hair ส่วนใหญ่จะหมายถึง ผมบนศีรษะ (Scalp Hair) จะมีความยาวมากกว่า 1 เซนติเมตร เส้นใหญ่ หนา สีเข้ม]

Congenital circumscribed hypertrichosis - มักจะมีขนเวลลัสที่หนาในส่วนบนของแขนขา หรือที่ข้อศอกที่เรียกว่า Hairy elbow syndrome ลักษณะนี้มีมาแต่กำเนิด มีการเพิ่มขึ้นตามอายุ และทุเลาเมื่อวัยเริ่มหนุ่มสาว

Congenital localized hypertrichosis - มีขนยาวและดกที่อวัยวะเฉพาะที่บางส่วน

Nevoid hypertrichosis - เป็นลักษณะที่มีมาแต่กำเนิดหรือเพิ่งมาเป็นทีหลัง มักมีขนเส้นใหญ่ (Terminal hair) เป็นจำนวนมากขึ้นบริเวณพื้นที่โดดๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเป็นโรคอื่น

สำหรับโรคมนุษย์หมาป่าที่เริ่มเป็นตอนโต (Acquired hypertrichosis) นั้น อาจมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา การเป็นมะเร็ง และการกินที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถรักษาให้มีอาการน้อยลงได้ โดยแบ่งเป็นหลายประเภท ได้แก่

Acquired hypertrichosis lanuginose - มีลักษณะของขนลานูโกที่ยาวเร็วกว่าปกติโดยเฉพาะที่หน้า ขนอาจจะขึ้นที่ลำตัวและรักแร้ แต่จะไม่ขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า มักเกิดพร้อมมะเร็ง ทำให้ระบบเผาผลาญผิดปกติ เช่น มีภาวะเบื่ออาหาร (Anorexia) ฮอร์โมนไม่สมดุล เช่น ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) หรือเป็นผลข้างเคียงของยา

Acquired generalized hypertrichosis - อาจมีสาเหตุเกิดจากมะเร็ง โดยปกติจะเกิดที่แก้ม ริมฝีปากบน และคาง แต่ก็อาจพบได้บ้างที่แขนบริเวณระหว่างข้อศอกกับข้อมือ และที่บริเวณขา ลักษณะที่ผิดปกติอีกอย่างก็คือ มีขนเป็นจำนวนมากเกิดจากรูขุมขนเดียว และอาจจะเกิดขึ้นที่ขนตาทำให้ดูเหมือนว่าใส่ขนตาปลอม (Trichiasis) ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่า การรักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วยการกินยาไมนอกซิดิล (Oral Minoxidil) เป็นสาเหตุให้เกิดอาการนี้ ส่วนการใช้ยาไมนอกซิดิลเฉพาะที่ (Topical minoxidil) เพื่อรักษาอาการหัวล้านเพื่อให้ผมขึ้นบริเวณนั้นๆ มักจะใช้ไม่ได้ผลเมื่อมีการหยุดยา

Acquired patterned hypertrichosis - จะมีอาการคล้าย Acquired generalized hypertrichosis และมีสัญญาณของเนื้อร้ายอยู่ข้างใน

Acquired localized hypertrichosis - มีลักษณะความดกและยาวของขนเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้รับการระคายเคืองหรืออุบัติเหตุ ซึ่งเกิดในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย

แหล่งข้อมูล:

  1. Hypertrichosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Hypertrichosis [2013, December 2].