โรคมนุษย์หมาป่า (ตอนที่ 1)

สาวิตา สัมภาจี คุณแม่ชาวอินเดียวัย 26 ปี ระบุว่า ลูกน้อยวัยไม่ถึงเดือนของเธอมีความผิดปกติทางพันธุกรรมเช่นเดียวกับญาติๆ หลายคน ซึ่งทำให้เธอมีขนยาวปกคลุมทั่วลำตัวและใบหน้า หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรคมนุษย์หมาป่า (Werewolf Syndrome)

คุณแม่ชาวอินเดียกล่าวว่า เธอเป็นห่วงอนาคตของลูก แต่ก็ยอมรับในโชคชะตาของเธอ และไม่เคยนึกรังเกียจไม่ว่าลูกจะมีหน้าตาเช่นไร

โรคมนุษย์หมาป่า (Hypertrichosis หรือ Ambras syndrome หรือ Werewolf syndrome) เป็นความผิดปกติของขนที่ยาวปกคลุมทั่วร่างกาย

มีหลายกลไกที่ทำให้เป็นโรคมนุษย์หมาป่า อย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับบริเวณผิวหนังก็คือ การเปลี่ยนจากขนเส้นเล็กไปเป็นขนเส้นใหญ่ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงปกติที่เกิดในช่วงระหว่างที่โตเป็นวัยรุ่น ในขณะที่โรคมนุษย์หมาป่าก็มีการเปลี่ยนแปลงของขนเหมือนกัน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ ซึ่งก็ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ชัดเจนเช่นกัน

กลไกอย่างอื่นจะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรขน ซึ่งมี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเจริญเติบโต (Anagen Phase) ระยะหลุด (Catagen Phase) และระยะฟัก (Telogen Phase) หากระยะเจริญเติบโตสูงกว่าปกติ ส่วนต่างๆ ของร่างกายก็จะมีขนยาวผิดปกติ

โรคมนุษย์หมาป่าแบ่งกว้างๆ ออกเป็น 2 ประเภท คือ Generalized hypertrichosis ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีขนยาวปกคลุมทั่วทั้งตัว และ Localized hypertrichosis ซึ่งจะทำให้มีขนยาวที่อวัยวะบางส่วน โรคนี้อาจเป็นแต่กำเนิด (Congenital hypertrichosis) หรือมาเริ่มเป็นเมื่อตอนโตก็ได้ (Acquired hypertrichosis)

โรคมนุษย์หมาที่เป็นแต่กำเนิด มีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีน (Genetic mutations) โดยตั้งแต่เกิดเด็กจะมีขนลานูโก (Lanugo Hair) ปกคลุมไปทั่วตัว ซึ่งในกรณีปกติขนลานูโกจะหลุดร่วงไปก่อนคลอดและถูกแทนที่ด้วยขนเวลลัส (Vellus Hair) อย่างไรก็ดีในคนที่เป็นโรคมนุษย์หมาป่า ขนลานูโกจะยังคงอยู่ต่อไปหลังคลอด

[ขนลานูโก (Lanugo Hair) เป็นเส้นผมชุดแรกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา มีลักษณะนุ่ม เส้นบาง สีอ่อน และจะลอกหลุดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่ขนเวลลัส (Vellus Hair) เป็นเส้นผมที่มีความยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร เส้นจะบาง สีอ่อนกว่า และไม่มีแกนผม (Hair Medulla) เช่น ขนบริเวณลำตัว ใบหน้า]

โรคมนุษย์หมาป่าที่เป็นแต่กำเนิดมีการพบได้น้อยมาก ที่ผ่านมา 300 ปี ตั้งแต่ยุคกลาง มีการบันทึกการเป็นโรคมนุษย์หมาป่าแบบ Congenital hypertrichosis lanuginosa เพียง 50 ราย และเป็นโรคมนุษย์หมาป่าแบบ Congenital generalized hypertrichosis น้อยกว่า 100 ราย

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2554 "น้องแนท" หรือ ด.ญ. สุพัตรา สะสุพันธุ์ เด็กหญิงขนดกชาวไทยวัย 11 ขวบ (เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2543) เป็นผู้หนึ่งที่ถูกบันทึกโดย "กินเนสส์ บุ๊ก เวิลด์ เร็กคอร์ด" ว่า เป็นเด็กหญิงที่ขนดกที่สุดในโลก

แหล่งข้อมูล:

  1. หนูน้อยอินเดียป่วยเป็น “โรคมนุษย์หมาป่า” แต่กำเนิด-แม่ยอมรับ “พระเจ้ากำหนด” http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000136710&Keyword=%e2%c3%a4 [2013, December1].
  2. Hypertrichosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Hypertrichosis [2013, December 1].