โรคภูมิแพ้...ภัยเงียบที่คุกคามคนไทย (ตอนที่ 3)

ในการรักษาโรคหืดนั้น ยาควบคุมอาการระยะยาวใช้สำหรับป้องกันอาการในคนที่เป็นโรคหืดขั้นปานกลาง ไปจนถึง รุนแรง และต้องกินยาทุกวันเพื่อให้เห็นผล แม้เราจะรู้สึกดีแล้วก็ตาม ยาสเตรียรอยด์แบบสูดเข้าปอด ป้องกันอาการกำเริบ ด้วยการป้องกันไม่ให้ทางเดินอากาศหายใจบวม ยาตัวนี้ได้ผลดีมากและมักเป็นทางเลือกแรกที่คนเลือกใช้กัน

ยาแบบสูดเข้าปอดชนิดตัวทำการเบตา ก็ช่วยป้องกันอาการโรคหืดกำเริบเช่นกัน และควรใช้คู่กับยาสเตรียรอยด์ แบบสูดเข้าปอด ส่วนยาคุมอาการตัวอื่นที่ใช้ได้เช่นกันก็มี สารยับยั้ง Leukotriene (เช่น Singulair และ Accolate) Omalizu-mab (เช่น Xolair) Cromolyn sodium (เช่น Intal) หรือ Nedocromil sodium (เช่น Tilade)

สำหรับยาแบบบรรเทาอาการนั้นจะออกฤทธิ์เร็วเพื่อควบคุมอาการของโรค จึงควรกินเมื่อคุณไอ หายใจมีเสียงฟืด ฟาด หายใจลำบาก หรืออาการโรคหืดกำเริบ และยังสามารถกินก่อนออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหืดที่เกิดจาก การออกกำลังด้วย ยาดังกล่าวได้แก่ ยาขยายหลอดลม (แบบสูดเข้าปอด) ที่ให้ผลระยะสั้น เช่น Proventil, Ventolin, และ Xopenex

แต่หากอาการไม่ยอมหาย แพทย์อาจสั่งยาสเตียรอยด์แบบกิน (Corticosteroids) ซึ่งต้องพกติดตัวเพื่อรับประทานตลอด ไม่ให้ขาด และหากอาการเข้าขั้น รุนแรง อาจต้องนอนพักที่โรงพยาบาล เพื่อให้ได้ออกซิเจนจากเครื่องช่วยหายใจ และให้ยาทางหลอดเลือด

แต่อย่าปล่อยให้วัวหายแล้วค่อยล้อมคอกเลย ก่อนที่จะปล่อยให้อาการเลยเถิดไปถึงขั้นต้องรักษาด้วยวิธีการดังกล่าว เราควรป้องกันตัวเองไม่ให้อาการกำเริบด้วยวิธีหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นและสารที่ระคายเคืองต่อทางเดินอากาศหายใจ ใช้ ผ้าคลุมเตียง ปลอกหมอน และผ้าห่มแบบป้องกันไรฝุ่น ไม่ใช้พรมในห้องนอนและดูดฝุ่นเป็นประจำ

ควรใช้ผงซักฟอกและ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบไร้กลิ่นเท่านั้น ควบคุมระดับความชื้นภายในบ้าน การซ่อม รอยรั่วซึมต่างๆ เพื่อป้องกัน การเกิดเชื้อรา รักษาบ้านให้สะอาดและไม่ให้เอาอาหารเข้าไปในห้องนอน เพื่อป้องกันแมลงสาบ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นโรคหืดของหลายๆคน ถ้าแพ้สัตว์ที่ไม่สามารถกำจัดออกจากบ้านได้ ก็ไม่ควรเอาสัตว์ชนิดนั้น เข้าห้องนอน

และควรติดเครื่องกรอง ที่เครื่องปรับอากาศเพื่อดักสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ และที่สำคัญที่สุดสำหรับบ้านที่มีลูกเป็น โรคหืดก็คือ การกำจัดควันบุหรี่ การออกไปสูบบุหรี่นอกบ้านนั้นไม่พอ เพราะเมื่อเดินเข้าบ้าน คนสูบก็ยังคงพาเศษตกค้างของ ควันบุหรี่เข้ามากับเสื้อผ้า และอากาศอยู่ดี คนที่ป่วยเป็นโรคหืดจึงควรหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองจากอุตสาหกรรม ต่างๆ และควันที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ดร. พญ. วิภารัตน์ มนุญากร จาก รพ. รามาธิบดีกล่าวว่า โดยทั่วไป โรคภูมิแพ้สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าเราปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ไรผุ่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ และหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายตามแพทย์แนะนำ

แหล่งข้อมูล:

  1. พบคนไทย เป็นภูมิแพ้มากขึ้น ส่งผลกระทบ ชีวิตการงาน http://www.thairath.co.th/content/life/307266 [2012, November 28].
  2. Asthma. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0001196/ [2012, November 28].