โรคพึงระวังหลังจากน้ำลด (ตอนที่ 7): มาลาเรีย

ข่าวด่วนรายวันจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลกลาง ในสังกัดกรุงเทพมหานคร รายงานเมื่อวานนี้ว่า โรคมาลาเรีย เป็นโรคหนึ่งในจำนวน 9 โรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วม และคงอยู่หลังจากน้ำลดแล้ว

มาลาเรีย (Malaria) เป็นโรคติดเชื้อในคนและสัตว์ที่เกิดจากยุง โรคนี้เป็นผลจากการเพิ่มทวีสายพันธุ์ของพยาธิที่ชื่อ Plasmodium ซึ่งอาศัยอยู่ในเซลเม็ดเลือดแดง มาลาเรียเป็นโรคเก่าแก่ของคนอย่างน้อยมากกว่า 50,000 ปี โรคนี้แพร่กระจายในเขตร้อนในทวีปอัฟริกา เอเชีย และอเมริกา

อาการของโรคมาลาเรียได้แก่ มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดข้อ อาเจียน ภาวะโลหิตจาง ปัสสาวะเป็นเลือด จอตาถูกทำลาย และชัก แต่อาการที่พบบ่อยจนเป็นวงจรของโรคมาลาเรีย เริ่มต้นด้วยความรู้สึกหนาวทันที ตามด้วยหนาวสั่น แล้วก็เป็นไข้ มีเหงื่อออกยาวนาน 4 – 6 ชั่วโมง อาการนี้เกิดขึ้นทุกๆ 2 – 3 วัน

เด็กที่เป็นโรคมาลาเรีย อาจรู้สึกปวดศีรษะ จึงมักแสดงอาการแปลกๆ ที่เป็นสัญญาณของสมองที่ได้รับอันตราย ในบางกรณีอาจมีปัญหาของการรับรู้ที่เสื่อมลง ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลหิตจางในช่วงที่มีการพัฒนาสมองอย่างรวดเร็ว ทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย แล้วก็อาจมีผลกระทบต่อจอตา

ในกรณีร้ายแรงอาจรุนแรงไปถึงขั้นหมดสติ (Coma) หรือตายภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันหากไม่ได้รับการรักษา เด็กเล็กและหญิงมีครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้ม้ามโต ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ขาดเลือดหล่อเลี้ยงสมอง ตับโต ภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย และปัสสาวะมีเลือดร่วมกับไตวาย

การติดต่อของโรคมาลาเรีย อาจลดลงได้ด้วยการป้องกันมิให้ถูกยุงกัด โดยการกางมุ้งและใช้ยากันยุง หรือมาตรการควบคุมยุง อาทิ การฉีดยาฆ่าแมลง และขจัดน้ำนิ่งซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ในปัจจุบันมีมุ้งลวดที่เคลือบยาฆ่ายุงโดยเฉพาะ ซึ่งได้ผลเป็นสองเท่าของมุ้งทั่วไป และสามารถป้องกันยุงกัดได้มากกว่า 70% เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่ใช้มุ้ง

ปัจจุบันเรายังไม่สามารถผลิตวัคซีนที่ป้องกันโรคนี้อย่างได้ผลเป็นเวลายาวนานพอ แต่ก็มียา 2 ขนานที่ป้องกันโรคมาลาเรียได้สำหรับผู้เดินทางยังประเทศที่มียุงอยู่ชุกชุม ซึ่งต้องกินยาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ก่อนเดินทาง และกินต่อเนื่องจนถึงอีก 4 สัปดาห์หลังกลับจากเดินทาง

เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยโรคมาลาเรียสามารถหายขาดจากโรคนี้ได้ การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย ในกรณีไม่รุนแรง แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาควีนิน (Quinine) โดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแต่อย่างใด

แต่ในกรณีรุนแรง แพทย์มักให้ยาดังกล่าวผ่านหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ กลางศตวรรษที่ 20 มีการค้นพบยาที่ดีกว่าควีนินสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ อาทิ Quinacrine, Chloroquine และ Primaquine แต่ก็มีการดื้อยารักษาโรคมาลาเรียอยู่หลายขนานเช่นกัน ส่วนใหญ่จากยา Chloroquine

แหล่งข้อมูล:

  1. Malaria. http://en.wikipedia.org/wiki/Malaria [2011, October 18].