โรคพึงระวังหลังจากน้ำลด (ตอนที่ 6): โรคหัด

ข่าวจากเว็บไซต์โรงพยาบาลกลาง "น้ำท่วม ทุกข์แรก .. โรคที่มารอซ้ำเติม ทุกข์ที่สอง" มี 9 โรคที่ควรระวัง อันได้แก่

  1. โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อราและแผลพุพองเป็นหนอง
  2. โรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส
  3. โรคปอดบวมเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและ ไวรัส
  4. โรคตาแดง
  5. โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
  6. โรคฉี่หนู
  7. โรคไข้เลือดออก
  8. โรคหัด และ
  9. โรคไข้มาลาเรีย

โรคหัด (Measles ) เป็นการติดเชื้อในระบบหายใจ มีสาเหตุจากไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูกไหล ตาแดง และผื่นแดง สามารถติดต่อผ่านการหายใจ กล่าวคือ การสัมผัสอย่างใกล้ชิดด้วยของเหลวจากปากและจมูกของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ จะโดยการไอและจาม หรือโดยเชื้อไวรัสหัดที่แพร่กระจายอยู่แล้วในอากาศ

นอกจากนี้ การติดเชื้อยังสามารถผ่านน้ำอสุจิจากเพศสัมพันธ์ น้ำลาย หรือเยื่อเมือกของผู้ป่วย และคนเท่านั้นที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสนี้ เพราะยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าสัตว์เป็นพาหะ โรคนี้สามารถติดต่อและแพร่กระจายได้ง่าย ประมาณ 90% ของผู้คนที่มิได้อาศัยอยู่ด้วยกัน สามารถติดเชื้อนี้ได้

ระยะฟักตัวมักไม่แสดงอาการ แต่โรคหัดจะเกิดขึ้นภายใน 9 – 12 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อ และจะอยู่ในสภาพติดเชื้อประมาณ 4 – 9 วัน โดย 4 วันแรกจะมีไข้ น้ำมูกไหล และตาแดง อาจมีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้จะมีผื่นแดงเกิดขึ้นหลังจากมีไข้หลายวัน โดยเริ่มที่ศีรษะ ก่อนจะลามไปส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการคัน ในที่สุดผื่นแดงจะเปลี่ยนสีกลายเป็นน้ำตาลเข้มก่อนที่จะเลือนหายไป และอาจมีจุดๆ ให้เห็นภายในปาก แต่ไม่เสมอไป เพราะจุดเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นลักษณะชั่วคราว และอาจหายไปภายในวันเดียว

ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสหัด ได้แก่

  1. เด็กที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากติดเชื้อ เอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์ ( AIDS) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) เป็นต้น
  2. ผู้เดินทางไปสถานที่ที่โรคหัดกำลังระบาด หรือคนที่สัมผัสกับผู้เดินทางไปสถานที่ดังกล่าว และ
  3. ทารกที่สูญเสียสารภูมิต้านทาน (Antibody) ที่รับมาจากแม่ ก่อนการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันตามกำหนดปรกติ

ส่วนปัจจัยเสี่ยงในกรณีโรคหัดร้ายแรง และมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

  1. การขาดสารอาหารตามหลักโภชนาการ (Malnutrition)
  2. มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
  3. การตั้งครรภ์ และ
  4. การขาดวิตามิน เอ

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีเฉพาะสำหรับการรักษาโรคหัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายป่วยได้ด้วยการพักผ่อน และ การรักษาประคับประคองตามอาการ อาทิ ยาแก้ปวดและลดไข้ และยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาการไอ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการไม่สบายมาก ต้องรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน อาทิ โรคปอดบวม การติดเชื้อที่หู หลอดลมอักเสบ และสมองอักเสบ ซึ่งในกรณีหลัง หากเกิดขึ้นฉับพลัน (ประมาณ 15%) อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในกรณีปอดบวม โพรงจมูกอักเสบ และหลอดลมอักเสบที่ติดเชื้อแบคเรียซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนจากโรคหัด

แหล่งข้อมูล:

  1. 9 โรคร้าย ที่มากับ น้ำท่วม & หลังน้ำท่วม http://www.klanghospital.go.th/index.php/9.html [2011, October 17].
  2. Measles. http://en.wikipedia.org/wiki/Measles [2011, October 17].