โรคพึงระวังหลังจากน้ำลด (ตอนที่ 3): โรคไข้เลือดออก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของประชาชนในช่วงน้ำท่วมเป็นอย่างยิ่ง จึงแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงโรคที่จะเกิดและภัยที่จะมาจากน้ำท่วม ดังนี้

  1. โรคทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง หรือท้องเสีย
  2. โรคไข้เลือดออก
  3. โรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม
  4. โรคฉี่หนู
  5. โรคตาแดง
  6. อุบัติเหตุและการถูกสัตว์ร้ายมีพิษกัดต่อย

กรมควบคุมโรค จึงได้แนะนำวิธีหลักๆ ที่จะรับมือกับสถานการณ์นี้ ซึ่งพอสรุปได้ว่า “น้ำดื่ม อาหารสุก ร่างกายสะอาด ระวังสัตว์พิษ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ป้องกันโรคและภัยที่มาจากน้ำท่วม” แต่หากตนเองหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วยดังกล่าวข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์ตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนที่อาการจะลุกลามและเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น และขอให้ประชาชนเคร่งครัดปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือตามประกาศของทางราชการ

โรคไข้เลือดออก (Dengue) เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีอาการไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ ผื่นแดงตามผิวหนังคล้ายหัดเยอรมัน แต่ประมาณ 80% จะไม่แสดงอาการ (Asymptomatic) หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย แต่ในกรณีส่วนน้อย (ประมาณ 5%) โรคนี้อาจรุนแรงไปเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต โดยเป็นไข้ที่ส่งผลให้มีเลือดออก (Hemorrhage) จากระดับเกล็ดเลือด (Platelet) ต่ำลง และจากส่วนที่เป็นน้ำเลือด (Plasma) เกิดรั่วไหลออกจากหลอดเลือด จึงส่งผลให้เกิดอาการช็อกจากมีความดันเลือดอยู่ในระดับต่ำมากๆ จนเข้าขั้นอันตราย

ยุงเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส 4 สายพันธ์ย่อยที่แตกต่างกัน แต่มีชนิดหนึ่งที่สร้างภูมิคุ้มกัน (Immonity) ให้ร่างกายได้ตลอดชีวิต คือจะไม่กลับมาเป็นโรคจากสายพันธ์นี้อีก แต่อีก 3 สายพันธ์นั้น สร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงระยะสั้น นอกจากนั้น การติดเชื้อสายพันธ์ย่อยหนึ่ง แล้วไปติดเชื้อสายพันธ์ย่อยอื่นในเวลาต่อมา มักเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงที่รุนแรง (Severe complications) เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับโรคนี้ การป้องกันจึงทำได้เพียงลดแหล่งที่อยู่และจำนวนยุงลง หรือการลดโอกาสที่จะถูกยุงกัด

ระยะฟักตัว (Incubation period) ของเชื้อไวรัสนี้ อยู่ระหว่าง 3 – 14 วัน ดังนั้นผู้ที่เดินทางกลับจากเขตที่มีความเสี่ยงสูง แล้วไม่มีอาการหลัง 2 สัปดาห์ ก็คงมีโอกาสน้อยที่จะเป็นโรคไข้เลือดออก แต่เด็กๆ มักมีโอกาสติดเชื้อไวรัสนี้ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ โดยมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา และอาจมีอาการของกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (อาเจียนและอุจจาระร่วง) และมีโอกาสสูงสำหรับภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

การรักษาโรคไข้เลือดออกฉับพลัน (Acute) ทำได้เพียงรักษาประคับประคองตามอาการ โดยแพทย์อาจให้ดื่มน้ำมากๆ หรือให้เป็นสารน้ำทางหลอดเลือดดำ (Intravenous) ในกรณีไม่ร้ายแรงนัก แต่อาจเพิ่มการให้เลือด (Blood transfusion) ในกรณีร้ายแรง

อุบัติการณ์ของไข้เลือดออก ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ป่วยทั่วโลกอยู่ประมาณ 50 - 100 ล้านคนต่อปี

ตามประวัติศาสตร์ มีการระบุถึงสภาวะของโรคนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2322 แต่การอธิบายถึงเชื้อไวรัสและการแพร่ระบาดของเชื้อ เพิ่งจะมีขึ้นเมื่อต้นศวรรษที่ 20 โรคไข้เลือดออกได้กลายเป็นปัญหาระดับโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นโรคระดับท้องถิ่นของกว่า 110 ประเทศในปัจจุบัน นอกจากความพยายาม ที่จะกำจัดยุงให้หมดสิ้นไปแล้ว งานวิจัยหลายๆ ชิ้นก็ดำเนินไปเพื่อค้นหาวัคซีน และยารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ

แหล่งข้อมูล:

  1. เผยวิธี..สี่สอ แนะประชาชนป้องกันโรคและภัยที่มาจากน้ำท่วม http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_06_27_flood.html [2011, October 14].
  2. Dengue. http://en.wikipedia.org/wiki/Dengue_fever [2011, October 14].