โรคพึงระวังหลังจากน้ำลด (ตอนที่ 2): อุจจาระร่วง

ข่าวเด่นจากเมื่อวาน รายงานว่า โรคพึงระวัง หลังจากน้ำลด อันดับสองรองจากโรคฉี่หนู ก็คือ อุจจาระร่วง หรือ ท้องเสีย (Diarrhea) คำว่า Diarrhea ในภาษากรีกหมายความว่า “ไหลผ่าน” เป็นสภาวะที่ถ่ายท้องเป็นอุจจาระเหลวอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวันหรือถ่ายท้องบ่อยถี่กว่าปรกติ ตามการนิยามขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO)

อุจจาระร่วงอาจเป็นโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตในประเทศกำลังพัฒนา [อย่างประเทศไทย] และสถิติการตายด้วยโรคนี้เป็นอันดับสองของโลกในบรรดาเด็กทารก (Infant) ผลพวงจากอุจจาระร่วงทำให้ร่างกายขาดความสมดุลของเกลือแร่ ซึ่งสืบ เนื่องมาจากการสูญเสียน้ำ (Dehydration) และสูญเสียเกลือแร่ (Electrolyte) จากการถ่ายท้องบ่อยๆ

ในปี พ.ศ. 2552 มีการประมาณการกันว่า ประชากรโลกเสียชีวิตจากจากอุจจาระร่วงจำนวน 1.1 ล้านคนสำหรับผู้มีอายุสูงกว่า 5 ปีขึ้นไป และ จำนวน 1.5 ล้านคน สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา การกินยาเม็ดที่เป็นส่วนผสมของเกลือและสังกะสี เป็นทางเลือกหนึ่งของการบำบัดรักษา ซึ่งประมาณการกันว่าวิธีนี้ได้ช่วยชีวิตเด็ก 50 ล้านคนใน 25 ปีที่ผ่านมา

เชื้ออุจจาระร่วง อาจเกิดจาก ไวรัส แบคทีเรีย และพยาธิ (Parasite) ผู้ใหญ่ที่มีอุจจาระร่วงมักเกิดจากการติดเชื้อ Novovirus ส่วน 40% ของกรณีอุจจาระร่วงที่เกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีสาเหตุมาจากการอับเสบของกระเพาะอาหาร และลำไส้ซึ่งติดเชื้อ Rotavirus ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของอุจจาระร่วงได้แก่ Campylobacter, Salmonellae และ Escherichia coli (หรือ E.coli)

ในหมู่นักเดินทาง อุจจาระร่วงมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุอื่นๆ ของอุจจาระร่วงได้แก่สารพิษต่างๆ อาทิ เห็ดพิษ และยาบางชนิด ส่วนอุจจาระร่วงเรื้อรัง หรือ ท้องเสียเรื้อรัง (Chronic) อาจเป็นส่วนหนึ่งของโรคเรื้อรังที่มีผลกระทบต่อลำไส้ ซึ่งมักมีสาเหตุจากแผลลำไส้อักเสบ ท้องไส้ปั่นป่วน และการดูดซึมกรดน้ำดีที่ผิดปรกติ

ส่วนพยาธิมีโอกาสน้อยในการก่อให้เกิดอุจจาระร่วง ในสภาพแวดล้อมที่มีอาหารและน้ำดื่มสะอาด ผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรง จะสามารถฟื้นตัวจากการติดเชื้อไวรัสได้ภายใน 2 – 3 วัน แต่ในกรณีของผู้ป่วยที่ขาดสารอาหาร อุจจาระร่วงอาจนำไปสู่ภาวะการขาดน้ำมากจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

การทดแทนของเหลวและเกลือที่ร่างกายสูญเสียไป เป็นการรักษาที่จำเป็นในหลายๆกรณี โดยแพทย์อาจให้ดื่ม (Oral) หรือให้เป็นสารน้ำทางหลอดเลือดดำ (Intravenous) ในกรณีร้ายแรง การศึกษาวิจัยพบว่า การจำกัดอาหารหรือให้เด็กดื่มเฉพาะนม ไม่มีผลกระทบต่อช่วงระยะเวลาของอุจจาระร่วง แต่ยกเว้นในคน/เด็กที่ในภาวะปกติดื่มนมแล้วท้องเสีย

การใช่ยาระงับการอุจจาระร่วงประเภท loperamide (ซึ่งมีชื่อการค้าว่า Imodium) อาจเป็นประโยชน์ [เพราะได้ผลชะงักงัน] แต่อาจเป็นข้อห้ามใช้ (Intraindication) ในบางกรณี

แหล่งข้อมูล:

  1. Diarrhea. http://en.wikipedia.org/wiki/Diarrhea [2011, October 12].