โรคพึงระวังหลังจากน้ำลด (ตอนที่ 1): โรคฉี่หนู

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารส่วนกลาง และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เมื่อบ่ายวันนี้ (10 ต.ค.) ว่า ได้กำชับให้ผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้ปฏิบัติรับมือสถานการณ์น้ำท่วมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังให้เตรียมยุทธศาสตร์รองรับหลังน้ำลด ในการฟื้นฟูส่วนสถานพยาบาล ที่เสียหายจากน้ำท่วม และพร้อมให้บริการทันทีหลังน้ำลด รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดหลังน้ำลด เช่น โรคฉี่หนู และโรคอุจจาระร่วง

โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง มีผลกระทบต่อคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก และสัตว์เลื้อยคลาน โรคนี้ค้นพบโดย Adolf Weil ในปี พ.ศ. 2429 ซึ่งเขารายงานว่า เป็นโรคติดเชื้อฉับพลันที่ก่อให้เกิดม้ามโต ดีซ่าน และไตอักเสบ อีก 30 ปีต่อมา จึงมีการค้นพบว่า หนูเป็นพาหะของเชื้อโรคนี้

โรคฉี่หนูเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์ถึงคน โดยผ่านน้ำที่มีสารปนเปื้อนด้วยปัสสาวะสัตว์ มาสัมผัสกับแผลผิวหนัง เยื่อตา หรือเยื่อเมือกของคน มักเกิดช่วงฤดูฝนในประเทศเขตร้อน เพราะเชื้อโรคนี้อยู่ได้ในสภาพอากาศชื้น โดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำ คูคลอง ท่อระบายน้ำ รางน้ำฝน หรือบริเวณปศุสัตว์ ที่มีโคลนตม แม้หนูจะเป็นพาหะหลัก สัตว์อื่นๆ อาทิ สุนัขก็เป็นพาหะรอง (Secondary host) ได้ ในกรณีที่สุนัขไปเลียน้ำปัสสาวะของหนูติดเชื้อ ที่อยู่ตามหญ้า ดิน หรือหลุมบ่อ เป็นต้น

ส่วนคนเรานั้น ติดเชื้อได้ด้วยการสัมผัสกับน้ำ อาหาร หรือดินที่มีปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ อาทิ การรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีแบคทีเรียปนเปื้อนดังกล่าว หรือเชื้อผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง แต่โอกาสที่เชื้อโรคนี้จะติดต่อจากคน สู่คนในสภาวะปกติมีน้อยมาก โรคนี้มักพบในผู้เล่นกีฬาทางน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในน้ำนานๆ อาทิ เล่นกระดานโต้คลื่น หรือพายเรือในแหล่งน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรีย นับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สามารถติดเชื้อได้ง่าย จากการดื่มน้ำปนเปื้อน ถูกน้ำกระเซ็นเข้าตา หรือจมูก หรือแผลสัมผัสน้ำปนเปื้อนดังกล่าว

โรคนี้มักแสดงอาการเป็นสองระยะ โดยระยะแรก ร่างกายจะรู้สึกร้อนผ่าวแต่หนาวสั่น มีโรคฉี่หนูไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะมาก อาเจียร ผื่นแดงที่ตาและมือ ปวดท้องและท้องร่วง ส่วนในระยะหลัง จะเกิดอาการเยื่อสมองอักเสบ ตับถูกทำลาย (จนเป็นดีซ่าน) และไตล้มเหลว ในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายปอดบวม (Pneumonia) แต่หลังจากระยะฟักตัวระหว่าง 4 – 14 วัน อาการที่แท้จริงจะปรากฏให้เห็น

วิธีป้องกัน ทำได้โดยกินยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ประเภท Doxyclycline (ในกลุ่ม Tetracycline) 200–250 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง ในกรณีที่จำเป็นต้องเดินทางไปในบริเวณที่มีความเสี่ยงสูง การรักษาเริ่มต้นด้วยการฆ่าเชื้อด้วยยาปฏิชีวนะ อาทิ Cefotaxime, Doxycycline, Penicillin, Ampicillin, หรือ Amoxicillin มาตรการบำบัดในกรณีที่โรครุนแรง ได้แก่การถอนพิษ (Detoxification) และการฟื้นฟูสู่สภาพสมดุลปกติของร่างกายด้วย น้ำเกลือแร่ (Hydro-electrolytes) หรือสารละลายน้ำตาล (Glucose) ผสมเกลือ รวมทั้งการล้างไต (Dialysis) และการดูแลรักษาอวัยวะบางส่วนเป็นพิเศษ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับไต ตับ หรือหัวใจ

ในขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนสำหรับคนในการป้องกันโรคฉี่หนู แม้จะมีวัคซีนสำหรับสัตว์บ้างแล้ว แต่ก็ได้ผลเพียง 2 – 3 เดือนเท่านั้น ดังนั้นต้อง “กันไว้ดีกว่าแก้ (Prevention is better than cure) เพราะถ้าแย่แล้ว จะแก้ไม่ทัน”

แหล่งข้อมูล:

  1. น้ำท่วมดับแล้ว 269 ราย “วิทยา” กำชับส่งต่อผู้ป่วยให้คำนึงปลอดภัยเป็นหลัก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000129134 [11 ตุลาคม 2011].
  2. Leptospirosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Leptospirosis [11 ตุลาคม 2011].