โรคพิษสุนัขบ้า มาหลังน้ำท่วม (ตอนที่ 3)

อนุสนธิข่าวจากเมื่อวานซืน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในหัวสุนัขและแมวที่ส่งตรวจ ณ สถานเสาวภา ในช่วงระหว่างวันที่ 4-23 มกราคม พ.ศ. 2555 จำนวน 6 หัว แยกเป็นหัวสุนัข 4 หัว หัวแมว 2 หัว ในหลายพื้นของเขต กรุงเทพมหานคร

จากกรณีดังกล่าว ขอแนะนำประชาชนว่า นอกจากการเฝ้าระวัง ว่ามีสุนัขแปลกหน้าหรือมีอาการน่าสงสัยวาติดเชื้อเรบีส์ (Rabies) เข้าแล้ว สุนัขที่มีเจ้าของเองก็ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน โดยเฉพาะเด็กเล็ก หากเล่นกับสุนัขของตนเอง หรือออกไปเล่นนอกบ้าน อาจจะไปแหย่หรือเหยียบสุนัขได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมยั่วยุ ชักนำให้สุนัขโกรธแล้วกัด ทั้งจากสุนัขของตนเองและจากสุนัขที่ไม่คุ้นเคย

ไม่ควรให้สุนัขเลียมือหรือใช้มือล้วงคอช่วยเหลือสุนัข โดยไม่แน่ใจว่ามีอะไรติดคอ หากถูกสุนัขกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง แล้วเช็ดให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ อาทิ เบตาดีน และยาแดง แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจนครบตามจำนวนครั้งที่แพทย์สั่ง

นอกจากนี้ ยังต้องจำสัตว์ที่กัดให้ได้เพื่อสืบหาเจ้าของและสอบถามประวัติของสุนัขในเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าติดตามดูอาการสุนัข 10 วัน และถ้าพบสุนัขตายลง โดยก่อนตาย 10 วัน มีประวัติกัดคนหรือสัตว์อื่น ควรนำหัวส่งตรวจโดยประสานกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ใกล้บ้าน

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุด คือ ระวังอย่าให้ถูกสุนัขกัดหรือแมวกัด เพราะการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะมาจากน้ำลายสัตว์ที่เป็นโรคอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุด คือ การเสริมภูมิคุ้มกันในสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคหลัก รวมทั้งการควบคุมจำนวนสุนัขอย่างเคร่งครัด

ในกรณีที่สงสัยว่าได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ควรแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทราบ ประสานกับปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อควบคุมโรค ตัดหัวสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า นำไปชันสูตที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบยืนยันว่ามีเชื้ออยู่หรือไม่ แล้วจะได้ดำเนินการต่อไป

ในการการเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ ควรกักขังสัตว์ไว้ในที่ปลอดภัย และเฝ้าดูอาการประมาณ 15 วัน ไม่ควร ฆ่าสัตว์โดยไม่จำเป็น ควรปล่อยให้สัตว์ตายเอง ซึ่งจะตรวจพบเชื้อได้ง่าย และแน่นอนกว่า ในการส่งซากหลังจากที่สัตว์ตายลงโดย (เฉพาะถ้าเป็นสัตว์เล็ก อาทิ สุนัขหรือแมว) ให้ส่งตัวอย่างเฉพาะหัว หรือส่งทั้งซากก็ได้

แต่ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ อาทิ โคหรือกระบือ ต้องตัดหัวหรือสมองสัตว์ใส่ถุงพลาสติกแช่น้ำแข็ง นำส่งห้องปฏิบัติการ เพราะตัวอย่างที่จะใช้ตรวจโรคคือสมองของสัตว์ ซึ่งต้องทำอย่างระมัดระวัง อย่าใช้วิธีทุบที่กระโหลก เพราะอาจทำให้สมองเละ ตรวจหาสมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ได้ยาก แล้วส่งให้เร็วที่สุด

แต่ต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง โดยผู้ทำการต้องสวมถุงมือ หรือใช้ถุงพลาสติกหุ้มมือให้มิดชิด และล้างมือให้สะอาดหลังจากเก็บซาก มิฉะนั้นอาจแพร่เชื้อกระจายได้

แหล่งข้อมูล:

  1. คร.แนะ 5 ย.ป้องกันสุนัขกัด http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000014612 [2012, February 12].
  2. โรคพิษสุนัขบ้า http://th.wikipedia.org/wiki/โรคพิษสุนัขบ้า [2012, February 12].