โรคพิษสุนัขบ้า มาหลังน้ำท่วม (ตอนที่ 2)

อนุสนธิข่าวจากเมื่อวาน นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคว่า ปี พ.ศ. 2553 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 15 ราย สัตว์ต้นเหตุแยกเป็นสุนัขมีเจ้าของ 10 ราย สุนัขจรจัด 4 ราย และแมวจรจัด 1 ราย

ส่วนในปี พ.ศ. 2554 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 7 รายนั้น สัตว์ต้นเหตุแยกเป็นสัตว์มีเจ้าของ 5 ราย และไม่มีเจ้าของ 2 ราย ส่วนกลุ่มที่ถูกกัดมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5 – 9 ปี และ อายุระหว่าง 1 – 4 ปี สถิติจากข้อมูล แสดงว่าสัตว์ต้นเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่มีเจ้าของแต่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน

ดังนั้น ผู้เลี้ยงสุนัขเอง จึงควรศึกษาวิธีการเลี้ยงอย่างถูกต้อง และมีความรับผิดชอบในการเลี้ยง โดยพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งแรกเมื่อสุนัขอายุระหว่าง 2 – 4 เดือน ไม่ปล่อยสุนัขไปในที่สาธารณะตามลำพัง ทุกครั้งที่นำสุนัขออกนอกบ้านต้องอยู่ในสายจูง ควรคุมกำเนิดไม่ให้มีสุนัขมากเกินไป และต้องไม่นำสุนัขไปปล่อยทิ้งในที่สาธารณะ

ในกรณีถูกสุนัขกัด อาการของโรคพิษสุนัขบ้า จำแนกได้ออกเป็นอีก 2 ประเภท กล่าวคืออาการอัมพาต กับอาการคลุ้มคลั่ง ในกรณีอาการอัมพาต เกิดจากการที่เชื้อเรบีส์ (Rabies) ลุกลามเข้าไปในส่วนต่างๆ [ของร่างกาย] โดยเฉลี่ย [ผู้ปวย] จะเสียชีวิตใน 13 วัน ด้วยอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรงตามแขนขา

ส่วนในกรณีอาการคลุ้มคลั่ง โดยเฉลี่ย [ผู้ถูกสุนัขกัด] จะเสียชีวิตใน 5 วัน เพราะเชื้อได้ลุกลามอย่างเร็ว โดยอาจแสดงอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้

อาละวาด – ผู้ป่วยจะกระวนกระวาย ตื่นตะหนกต่อสิ่งเร้าได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น เสียง แสง และ ลม เป็นต้น โดยจะรู้ตัวบ้างและไม่รู้ตัวบ้าง ซึ่งอาการจะรุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงกับอาละวาด ไม่อยู่อย่างสงบ บางครั้งอาจจำไม่ได้ และไม่เข้าใจตนเองขณะแสดงอาการ จะอยู่ในลักษณะเช่นนี้ประมาณ 2 - 3 วัน หลังจากนั้น ก็จะเริ่มซึมเศร้า ไม่รู้สึกตัว มีความดันโลหิตต่ำ อาจซ็อก และอาเจียนเป็นเลือดได้

กลัว – กลัวน้ำ (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “โรคกลัวน้ำ”) หรือกลัวลม ลักษณะดังกล่าว อาจไม่พบร่วมกัน อาจเป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง และจะเห็นได้ชัดขณะที่ผู้ป่วยรู้สึกตัว แต่พอผู้ป่วยเริ่มซึมเศร้า อาการเช่นนี้ก็จะเริ่มหายไป แล้วผู้ป่วยจะมีอาการถอนหายใจซึ่งเกิดขึ้นเอง

แสดงออกทางร่ายกาย – รูสึกคันเฉพาะตรงบริเวณที่ถูกสัตว์กัด แล้วปวดแสบปวดร้อน และปวดลึกๆ ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วแขน ขา หรือหน้าซีกที่ถูกกัด ผู้ป่วยอาจขนลุก รูม่านตาไม่ตอบสนองต่อแสง โดยที่น้ำลายไหลมากผิดปกติ จนต้องบ้วนหรือถ่มทิ้งเป็นระยะๆ

ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ การรักษาจึงทำได้เพียงการดูแล ประคับประคอง และรักษาตามอาการ เท่าที่จะทำได้เท่านั้น วิธีการดูแลผู้ป่วย ทำได้ดังนี้

แยกผู้ป่วยให้ปราศจากสิ่งเร้าต่างๆ เช่น ห้องที่สงบ ไม่มีกเสียงรบกวนใดๆ แต่ไม่จำเป็นต้องปิดไฟ ให้สารอาหารแบบน้ำเข้าทางหลอดเลือด เนื่องจากผู้ป่วยมักจะกินอาหารไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้ให้การดูแล ควรใส่เสื้อผ้ามิดชิด ควรสวมแว่นตาและผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วย

แหล่งข้อมูล:

  1. คร.แนะ 5 ย.ป้องกันสุนัขกัด http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000014612 [2012, February 11].
  2. โรคพิษสุนัขบ้า http://th.wikipedia.org/wiki/โรคพิษสุนัขบ้า [2012, February 11].