โรคพิษสุนัขบ้า มาหลังน้ำท่วม (ตอนที่ 1)

นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า ช่วงนี้โรคพิษสุนัขบ้าอาจจะระบาดหรือเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภายหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ พบว่ามีสุนัขพลัดหลงมากขึ้น ทำให้จำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้น จึงเตือนผู้เก็บสุนัขมาเลี้ยง ให้ควรระวัง เพราะสุนัขอาจจะไปรับเชื้อจากสุนัขที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าอยู่แล้ว หรืออาจมีเชื้ออยู่ในน้ำลายได้

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคอันตรายมาก ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ไปหาหมอ เพราะเห็นว่าบาดแผลเพียงเล็กน้อย หรือจากแค่ลูกสุนัข หรือมีเจ้าของ จึงไม่ค่อยใส่ใจ อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นแล้วตายทุกราย เพราะยังไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน และสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ โดยการหลีกเลี่ยงการถูกสุนัขกัด “เมื่อถูกกัดแล้ว ต้องล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนต่อจนครบ”

ดังนั้น เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังแนะนำประชาชน ให้ยึดหลัก 5 ย. อันได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” กล่าวคือ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (ที่หาง ตัว หรือขาของมัน) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้าน หรือที่ไม่ทราบประวัติ

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำ หรือในภาษาอิสานเรียกว่า “โรคหมาว้อ” เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ “เรบีส์” เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง ที่มนุษย์รู้จักมากว่า 500 ปีแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากการกัด หรือข่วน จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ สุนัข แมว และหนู

ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ แต่สามารถป้องกันได้ ผู้ป่วยมักคงสภาพอยู่ได้นานไม่เกิน 1 สัปดาห์ แล้วจะเสียชีวิต เนื่องจากอัมพาตของกล้ามเนื้อ และของระบบทางเดินหายใจ ในประเทศไทย มีรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า โดยสาเหตุหลักเกิดขึ้นจากสุนัขโดยตร

ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า ชอบอาศัยอยู่ในระบบประสาท จึงทำให้สัตว์หรือมนุษย์ที่ป่วยโรคนี้ แสดงอาการทางประสาทออกมาอย่างเด่นชัด ลักษณะของเชื้อ รูปร่างคล้ายกระสุนปืน ปลายด้านหนึ่งโค้งมนและปลายอีกด้านหนึ่งตัดตรง ตามปรกติ เชื้อโรคชนิดนี้ตายง่าย

ถ้าถูกแสงแดด หรือแสงอุลตาไวโอเลต (Ultraviolet) เชื้อนี้จะตายใน 1 ชั่วโมง ถ้าต้มในน้ำเดือด จะตายภายใน 5 – 10 นาที ถ้าถูกน้ำยาฆ่าเชื้อ อาทิ ไลโซล ฟอร์มาลีน แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ไอโอดีน โพวีโดนไอโอดีน และสบู่หรือผงซักฟอก เชื้อจะตายภายในเวลาสั้นๆ

อาการแสดงของโรค มักออกมาในรูปการอักเสบของสมองและของเยื่อสมอง ในระยะ 2 – 3 วันแรก ผู้ป่วยจะปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ คันหรือปวดบริเวณรอยที่ถูกกัด ทั้งๆที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อมาผู้ป่วยจะรู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย ตื่นเต้นไวต่อสิ่งเร้ารอบกาย ไม่ชอบแสงแดดและลม แต่มีน้ำลายไหล

นอกจากนี้ กล้ามเนื้อคอจะกระตุกและเกร็งขณะพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ ทำให้เกิดอาการ "กลัวน้ำ" ต่อมาจะเริ่มเพ้อคลั่ง สลับกับอาการสงบ และชัก ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นอัมพาต โดยแขนขาอ่อนแรง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองจะถูกทำลายไปหมด

แหล่งข้อมูล:

  1. คร.แนะ 5 ย.ป้องกันสุนัขกัด http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000014612 [2012, February 10].
  2. โรคพิษสุนัขบ้า http://th.wikipedia.org/wiki/โรคพิษสุนัขบ้า [2012, February 10].