โรคพิษสุนัขบ้า มากับหลังน้ำท่วม (ตอนที่ 4 และตอนสุดท้าย)

อนุสนธิข่าวจากวันก่อน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของกรมควบคุมโรค ก็ได้ดำเนินกิจกรรมในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยร่วมโครงการกับกรมปศุสัตว์ ในการรณรงค์การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว

กรมควบคุมโรค ยังจัดการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารระดับสูงของกรมควบคุมโรคและกรมปศุสัตว์ เพื่อประสานความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน แล้วยังมีการจัดประกวดหน่วยงานป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดีเด่น (MoPH-MoAC Rabies Award) เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั้ง องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล

นอกจากนี้ ในกิจกรรมประจำปี ก็จะร่วมมือกันจัดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยในเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า ให้สอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422

พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า จะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่า อาทิ สุนัข แมว หนู ลิง ชะนี กระรอก สกั้งค์ แรคคูน และค้างคาว ในประเทศไทยมักพบในสุนัข รองลงมาคือแมว และมีรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในโค ปีละประมาณ 60 ตัว

ในการติดต่อของเชื้อโรคจากคนถึงคน สามารถเกิดได้ตามทฤษฎี โดยทางผิวหนังที่มีบาดแผลเนื่องจากมีการพบเชื้อในน้ำลายของผู้ป่วย แต่ไม่เคยมีรายงานยืนยันที่แน่ชัด [ในทางปฏิบัติ]

การติดต่อของเชื้อเรบีส์ (Rabies) อาจเกิดขึ้นได้ โดยเชื้อไวรัสออกมากับน้ำลายสัตว์ที่ติดเชื้อและเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางบาดแผล ซึ่งพาหะอาจ กัด ข่วน เลีย หรือมีน้ำลายกระเด็นเข้าตาหรือจมูก นอกจากนี้ เชื้ออาจติดต่อจากการกิน ถ้ามีบาดแผลภายในช่องปากหรือหลอดอาหาร ซึ่งจะพบกรณีสัตว์กินเนื้อสัตว์ตัวที่ป่วย หรือที่ตายใหม่ๆ เข้าไป

ปัจจุบันนี้ ในทวีปยุโรปยังมีปัญหาในสัตว์ป่า อาทิ สุนัขจิ้งจอก ซึ่งหลังจากมีการใช้วัคซีนชนิดกิน ทำให้อุบัติการของโรคลดลงไปมาก ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สามารถกำจัดโรคไปได้ใน ปี พ.ศ. 2529 ยังมีรายงานโรคนี้ในค้างคาวในเดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์ และเยอรมันตะวันตก ส่วนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ยังมีปัญหาโรคนี้ในสัตว์ป่าเช่นกัน

การระบาดของโรคส่วนมากเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา ประมาณการว่า มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 30,000 คน ในทวีปเอเชียมักมีสุนัขเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ส่วนในประเทศไทยผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงตามลำดับจากผู้เสียชีวิต 370 คนในปี พ.ศ. 2523 เป็น 30 คน ในปี พ.ศ. 2545 พบในภาคกลาง [มากกว่าภาคอื่นๆ]

แต่จากปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมาแนวโน้มกลับเพิ่มขึ้นจากผู้เสียชีวิต 9 คน เป็น 25 คนในปี พ.ศ. 2552 และในต้นปี พ.ศ. 2553 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นผู้หญิงวัยกลางคนที่มีอาชีพขายสุนัขที่ตลาดนัดสวนจตุจักร จนเป็นข่าวปรากฏอย่างครึกโครมไปทั่ว

แหล่งข้อมูล:

  1. คร.แนะ 5 ย.ป้องกันสุนัขกัด http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000014612 [2012, February 13].
  2. โรคพิษสุนัขบ้า http://th.wikipedia.org/wiki/โรคพิษสุนัขบ้า [2012, February 13].