โรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile virus infection)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile virus infection) หรือ ไข้เวสต์ไนล์(West Nile fever) คือ โรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง พบเกิดได้ในคนทุกเพศและทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยคนได้รับเชื้อมาจากการถูกยุงกัด ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ มีเพียงส่วนน้อยที่จะปรากฏอาการรุนแรง คือ มีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือของสมองอักเสบ ปัจจุบัน ยังไม่มียาสำหรับรักษาโดยเฉพาะและไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน ดังนั้นการป้องกันที่ทำได้คือ การระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด

โรคนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศยูกันดา(ในเขตที่ชื่อ West Nile) เมื่อปี พ.ศ. 2480 โรคมีการระบาดต่อเนื่องไปทั่วทั้งทวีปแอฟริกา รวมไปถึงประเทศในแถบตะวันออกกลาง เอเชีย ยุโรปกลางและตะวันออก ในปี พ.ศ.2542 โรคนี้ก็ได้เข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก โดยพบในมหานครนิวยอร์ค ต่อมาก็ได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือ แต่โดยรวมแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยเสียชีวิตไม่ถึง 50 ราย

สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่ในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีและเด็กทารก จะไวต่อการรับเชื้อ และเมื่อติดเชื้อ มักจะมีอาการรุนแรง

สำหรับในประเทศไทย ยังไม่พบมีรายงานผู้ป่วยโรคนี้

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์?

โรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์

เนื่องจากเชื้อไวรัสถูกพบเป็นครั้งแรกในเขตเวสต์ไนล์ของประเทศยูกันดา จึงได้ตั้งชื่อว่า เวสต์ไนล์ไวรัส (Westnile virus,ย่อว่า WNV) ซึ่งเป็นไวรัสในสกุลเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก และโรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis,ย่อว่า โรค JE)

เชื้อไวรัสจะแพร่จากสัตว์ได้หลายชนิด เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆ (เช่น สัตว์กีบ ค้างคาว กระต่าย กระรอก สุนัข แมว) และโดยเฉพาะนก ทั้งนกป่า และนกบ้าน มาสู่คน โดยอาศัยยุงเป็นพาหะโรค ยุงที่เป็นพาหะสำคัญคือ ยุงรำคาญ (หรือยุงบ้าน,Culex) ส่วนยุงชนิดอื่นพบได้น้อยกว่ามาก โดยยุงจะดูดเลือดจากสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้แล้วมากัดดูดเลือดคน คนก็จะติดเชื้อไวรัสต่อไป สัตว์ที่มีเชื้ออาจจะแสดงอาการหรือไม่ก็ได้ สำหรับสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น ม้า สุนัข แมว กระต่าย กระรอก พบเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อมาสู่คนได้น้อยกว่านกมาก และยังไม่พบการติดเชื้อจากการกินเนื้อสัตว์ต่างๆเหล่านี้

โดยปกติแล้ว เชื้อจะไม่ติดต่อจากคนสู่คน โดยยุงที่กัดดูดเลือดผู้ป่วยที่ติดเชื้อ แล้วมากัดคนปกติ คนปกติก็จะไม่ติดเชื้อเพราะเชื้อไวรัสที่อยู่ในเลือดคนมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับเชื้อไวรัสที่อยู่ในเลือดของนกที่ติดเชื้อ ยกเว้นในกรณีพิเศษที่มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คน ได้แก่ ทารกในครรภ์ติดเชื้อจากมารดาผ่านทางรก การติดเชื้อจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะและการติดเชื้อจากการรับเลือด

โรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์มีอาการอย่างไร?

ระยะฟักตัวของโรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ คือ ตั้งแต่รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการคือ ประมาณ 5-15 วัน แบ่งผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่ไม่มีแสดงอาการ พบได้มากถึง 80%
  • กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง พบได้เกือบ 20% อาการจะไม่จำเพาะ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเบ้าตา ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดข้อ (แต่จะไม่พบข้อบวมแดง) คลื่นไส้ อาเจียน บ่อยครั้งผู้ป่วยจะมีผื่นแบบนูนและ/หรือแบนราบขนาดเล็กๆ ซึ่งจะพบมากบริเวณหน้าอกและแผ่นหลัง อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายโตได้อาการเหล่านี้อาจปรากฏอยู่สั้นๆเพียง 2-3 วัน หรือเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ก็ได้ แต่ในที่สุดก็จะหายเป็นปกติ
  • กลุ่มที่มีอาการรุนแรง พบได้น้อยกว่า 1% ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หรือพบประมาณ 1 คนในผู้ที่ติดเชื้อ 150 คนอาการที่รุนแรงเกิดจากเชื้อเข้าสู่สมอง และทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเนื้อสมองอักเสบ โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง ซึม สับสน ชัก สูญเสียการมองเห็น มีอาการชาตามร่างกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรงและอาจเป็นถึงขั้นอัมพาต อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ บางรายอาจเป็นอยู่นานถึง 1 ปี

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ได้จาก

  • ผู้ป่วยที่ไม่ปรากกฎอาการก็จะไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ นอกจากใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะ ซึ่งจะทำเฉพาะในกรณีพิเศษ เช่น เพื่อการศึกษาวิจัย และ/หรือการติดตามการระบาดของโรค เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง อาการจะไม่จำเพาะ ซึ่งจะไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ หากไม่ใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการช่วย แต่โดยปกติไม่มีความจำเป็น เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้อาการจะหายไปได้เอง ยกเว้นในกรณีพิเศษเหมือนข้างต้นในข้อ 1
  • ผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการรุนแรง อาการก็จะคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ การจะนึกถึงว่าเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ ต้องอาศัยประวัติประกอบ เช่น มีการระบาดของโรคในพื้นที่ที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ หรือเดินทางไปยังแหล่งที่มีการระบาด มีประวัติถูกยุงกัด เป็นต้น

การตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น เช่น

  • การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) มักไม่พบความผิดปกติ
  • การตรวจน้ำไขสันหลังอาจจะพบเม็ดเลือดขาวบางชนิดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยบ่งว่าผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อไวรัส

*การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จะยืนยันการติดเชื้อชนิดนี้ ได้แก่

  • การเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดี(Antibody/สารภูมิต้านทาน) ที่จำเพาะต่อเชื้อชนิดนี้
  • การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสนี้จากเลือดหรือน้ำไขสันหลังโดยใช้เทคนิควิธีที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) รวมไปถึงการเพาะเชื้อ

โรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์มีผลข้างเคียงและความรุนแรงอย่างไร?

โรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์มีผลข้างเคียงและความรุนแรง/การพยากรณ์โรค ดังนี้

  • ผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง จะสามารถหายได้เป็นปกติ โดยไม่มี ภาวะแทรกซ้อน
  • ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 10-12% ในผู้ป่วยบางรายที่รอดชีวิต อาจเกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทแบบถาวร เช่น
    • มีแขน-ขาอ่อนแรงถาวร
    • เป็นอัมพาตถาวร เป็นต้น
    • โดยผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรง ความพิการทางระบบประสาท และเสียชีวิตมากกว่าวัยอื่นๆ
  • ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว มักมีภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภูมิคุ้มกันจะมีไปตลอดชีวิตหรือไม่
  • มีแนวทางรักษาโรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์อย่างไร?

    แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ คือ

    • หากผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรงมาพบแพทย์ โดยปกติแพทย์ก็จะวินิจฉัยว่ากำลังป่วยเป็นโรคติดเชื้อทั่วๆไป แต่จะไม่สามารถให้การวินิจฉัยเฉพาะเจาะจงได้ว่าป่วยจากการติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ แพทย์ก็จะให้การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น
      • การให้ยาลดไข้
      • ยาแก้ปวด
      • ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น
      • และอาจนัดมาดูอาการ ซึ่งหากเป็นเชื้อไวรัส เวสต์ไนล์ อาการต่างๆ ของผู้ป่วยก็จะหายเป็นปกติได้เอง
    • สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาตามอาการเหมือนผู้ป่วยที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ/สมองอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การให้ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยากันชัก หากหมดสติหรือมีการหายใจไม่เป็นปกติ ก็ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ การให้สารน้ำที่เหมาะสม การขยับและพลิกตัวบ่อยๆในกรณีที่ผู้ ป่วยขยับไม่ได้ เป็นต้น
      • ซึ่งเมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยก็จะได้รับยาปฏิชีวนะรักษา
      • แต่หากตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ ก็ทำได้แค่การรักษาแบบประคับประคองตามอาการเท่านั้น เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้
    • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง บางรายอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาทหลงเหลืออยู่ เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านไปแล้ว ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องเหมือนผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทจากสาเหตุอื่นๆ โดยหลักคือ
      • การทำกายภาพบำบัด
      • และวิธีการดูแลผู้ป่วยในแต่ละราย ขึ้นกับความผิดปกติที่หลงเหลืออยู่

    ดูแลตนเองและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์อย่างไร?

    การดูแลตนเองและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ คือ

    • ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง มักจะไม่ได้มาพบแพทย์ หรือหากมาพบแพทย์ก็มักไม่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคนี้ การดูแลตนเองจึงคล้ายกับการดูแลโรคติดเชื้อที่ไม่รุนแรงชนิดอื่นๆทั่วไป เช่น ดื่มน้ำให้มาก นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงงานหนัก แต่ไม่จำเป็นต้องหยุดงานหรือขาดเรียน เนื่องจากโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน
      • หากผู้ป่วยมีอาการเกิน 1 สัปดาห์ โดยอาการต่างๆไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวแล้วเพิ่มเติม เช่น ไข้ยังสูง หรือ แขนขา/กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
    • ปัจจุบัน มีแค่วัคซีนสำหรับม้าเพื่อป้องกันการเกิดโรคจากการติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ ‘แต่ไม่มีวัคซีนสำหรับคน’ ดังนั้นเราต้องป้องกันการติดเชื้อโดยการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น
      • การนอนในมุ้ง หรือในห้องที่มีมุ้งลวดปิด
      • การใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด
      • หรือใช้ยาทากันยุงป้องกัน เมื่อต้องออกนอกบ้าน โดยเฉพาะช่วงหัวค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่ยุงรำคาญชอบออกหากิน
    • การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ โดยยุงรำคาญจะวางไข่ในน้ำนิ่ง และสามารถวางไข่ได้ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ใสสะอาด หรือขุ่นสกปรก การกำจัด เช่น
      • การปิดฝาภาชนะต่างๆที่ขังน้ำไว้ใช้ให้มิดชิด
      • อย่าให้มีน้ำขังตามภาชนะที่ไม่ใช้
      • การใส่ยาฆ่าลูกน้ำในขารองตู้กับข้าวที่มีน้ำขัง
      • เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ให้น้ำสัตว์เลี้ยงบ่อยๆ เป็นต้น

    ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

    ผู้ที่ควรรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว/ฉุกเฉิน ได้แก่มี

    • ไข้สูง
    • ปวดศีรษะมาก / ปวดศีรษะรุนแรง
    • คอแข็ง
    • ซึม
    • ชัก
    • แขนขา/กล้ามเนื้ออ่อนแรง

    บรรณานุกรม

    1. C.J. Peters, Infections caused by arthropod- and rodent-borne viruses, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald, Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
    2. https://www.canada.ca/en/public-health/services/diseases/west-nile-virus.html#1 [2019,June22]
    3. http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_1_001c.asp?info_id=1072 [2019,June22]
    4. https://en.wikipedia.org/wiki/West_Nile_virus [2019,June22]
    5. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/west-nile-virus [2019,June22]