โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่

1. โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา (Hantavirus pulmonary syndrome = HPS) เป็นกลุ่มของไวรัสที่พบในสัตว์ฟันแทะทำให้เกิดโรคในคน เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่พบมานานกว่าร้อยปีหรืออาจนับเป็นพันปีมาแล้ว แต่ไม่มีใครทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุ อาการที่พบมีตั้งแต่แบบไม่รุนแรงจนถึงรุนแรง อาการรุนแรงจะเกิดที่ปอดหรือไต ซึ่งต้องรีบให้การรักษา เนื่องจากทำให้เสียชีวิตได้ โดยในระยะแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด (มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ) อาจมีอาการมึนงง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียตามมา เชื้อจะทำอันตรายต่อปอด ทำให้หายใจลำบากและไอ

หากเกิดการติดเชื้อที่ไตจะทำให้เกิดกลุ่มอาการทางไต ที่เรียกว่า Hemorrhagic fever with renal syndrome (HFRS) โดยอาจพบอาการปัสสาวะผิดปกติและเยื่อเมือกมีสีแดง และในรายที่อาการรุนแรงจะทำให้เกิดเลือดออกที่ไต หรือไตวาย เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

2. โรคไลม์ (Lyme disease) เป็นโรคติดต่อที่มีเห็บเป็นพาหะที่พบบ่อยที่สุดในซีกโลกเหนือ ติดต่อมายังมนุษย์ผ่านการถูกกัดโดยเห็บที่ติดเชื้อ Borrelia อาการแรกเริ่มอาจไม่ชัดเจน เช่น เป็นไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ผู้ป่วยร้อยละ 70-80 จะมีผื่นขึ้นบริเวณที่ถูกกัดหลังการถูกกัดประมาณ 3-30 วัน (เฉลี่ย 7 วัน) และอาจมีลักษณะเฉพาะคือ เป็นรูปเป้ายิงปืน (Bull's eye erythema migrans) หรือไม่มีก็ได้

ผื่นนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ เพียงแต่อาจร้อนกว่าผิวหนังส่วนอื่น หรืออาจมีอาการเจ็บหรือคันได้แต่พบได้น้อย หากไม่ได้รักษา อาจมีอาการเพิ่มที่ข้อต่อ หัวใจ และระบบประสาทส่วนกลาง และหากรักษาล่าช้าหรือไม่เหมาะสมอาจทำให้มีอาการรุนแรงและรักษาได้ยาก

3. โรคไข้เลือดออกลาสสา (Lassa fever) โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสลาสสา (Lassa virus) ระบาดได้ทั้งในชนบทและเขตเมือง โดยมีหนูเป็นพาหะของโรค มีอาการเป็นไข้สูงแบบเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดตามตัว มีแผลในปากในคอ ปอดบวมน้ำ มีน้ำในช่องเยื่อหุ่มปอด มีผื่นตามตัว มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง ในปัสสาวะมีโปรตีน มีเลือดออกจากทางเดินอาหาร เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ อัตราการตายสูงถึงร้อยละ 20 พบเฉพาะในแอฟริกา เพราะมีหนูชุกชุมขึ้นในหมู่บ้านเนื่องจากการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ดี

4. กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกฮีโมไลติกยูรีมิก (Hemolytic uremic syndrome) เป็นโรคซึ่งทำให้มีการแตกของเม็ดเลือดแดง ไตวายเฉียบพลัน (ทำให้มีของเสียคั่งในเลือด หรือ ยูรีเมีย) และเกล็ดเลือดต่ำ ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อ Escherichia coli (E.coli) ซึ่งมักติดเชื้อจากการกินอาหาร ในระยะแรกอุจจาระจะไม่มีเลือดปน หลังจากนั้น 2-3 วัน อุจจาระจะมีเลือดสดปนออกมา นอกจากนี้ยังมีเม็ดเลือดแดงแตกสลายภายในเส้นเลือดและมีเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีจ้ำห้อเลือดเกิดขึ้นตามตัว ปัสสาวะน้อยลง ซึ่งจะเป็นลักษณะอาการของไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางคือ ซึม ชัก และหมดสติ เป็นอัมพาตครึ่งซึก หรืออัมพฤกษ์ มีอัตราตายร้อยละ 5-10

แหล่งข้อมูล

  1. Understanding Emerging and Re-emerging Infectious Diseases. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK20370/ [2015, March 4].