โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (ตอนที่ 3)

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่

ขณะเดียวกัน The Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐอเมริกาได้กล่าวถึง ปัจจัยของการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ว่ามีสาเหตุ ดังนี้

  • เชื้อโรคมีการปรับตัว (Microbial adaption) เช่น มีการเปลี่ยนแปลงในความถี่ของยีน (Genetic drift)
  • มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากบางโรคที่ทำให้ร่างกายคนติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์
  • สภาพอากาศ เช่น เชื้อโรคที่มียุงเป็นสัตว์นำโรคอย่างเวสต์ไนล์ (West Nile Disease) จะขยายจากสภาพอากาศเขตร้อนไปยังเขตอุ่น
  • การเคลื่อนย้ายทางประชากรศาสตร์และการค้าขาย ทำให้มีการแพร่ระบาดที่เร็วขึ้น เช่น โรคซาร์ (SARS) ที่แพร่ไปทั่วโลก
  • การพัฒนาทางเศรษฐกิจ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะทำให้เชื้อโรคดื้อยามากขึ้น
  • การจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น ที่เกิดในประเทศซิมบักเว
  • ความจนและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เช่น วัณโรคที่มักเป็นปัญหาของคนที่อยู่ในเขตยากจน
  • สงครามและการขาดแคลนอาหาร
  • สงครามชีวภาพ (Bioterrorism) เช่น 2001 Anthrax attacks

สำหรับ “โรคติดเชื้อ / โรคติดต่ออุบัติซ้ำ” (Reemerging infectious disease) นั้น NCBI ได้กล่าวว่า เป็นโรคที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วโลกหรือในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งเคยหายไปแล้ว แต่กลับมาระบาดอีก โดยผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อถือว่าโรคติดต่ออุบัติซ้ำเป็นส่วนหนึ่ง (Subcategory) ของโรคติดต่ออุบัติใหม่

ตัวอย่างของโรคติดต่ออุบัติซ้ำ ได้แก่ วัณโรค (Tuberculosis) ที่เกิดจากการพัฒนาการของแบคทีเรียที่ดื้อยา โรคมาลาเรีย (Malaria) ที่เกิดจากยุงที่ดื้อต่อยาฆ่าแมลง โรคคอตีบ (Diphtheria) และโรคไอกรน (Pertussis) ที่สัมพันธ์กับการให้วัคซีนที่ไม่พอเพียงกับจำนวนประชากร กล่าวคือ เมื่อสัดส่วนของความต้านทานโรคของประชากรลดลงถึงจุดๆ หนึ่ง เชื้อโรคที่อยู่ในกลุ่มประชากรเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้

ทั้งนี้ ลักษณะอาการคร่าวๆ ของตัวอย่างโรคอุบัติใหม่ดังกล่าว มีดังนี้ เช่น

1. โรคติดเชื้อลีเจียนแนร์ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันจากสิ่งแวดล้อม ที่มีอาการทางคลินิกได้สองลักษณะ คือ หากมีภาวะปอดอักเสบ อาการรุนแรง และอัตราป่วยตายสูง เรียกว่า โรคปอดอักเสบลีเจียนแนร์ (Legionnaires disease) และอีกแบบที่ไม่มีภาวะปอดอักเสบ อาการไม่รุนแรง เรียกว่า โรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever) การแพร่ของโรคเกิดจากการที่คนหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยโรคนี้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี

โรคนี้หากเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุมักมีอาการรุนแรงมากกว่า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต โรคปอดเรื้อรัง หรือโรคมะเร็ง และในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ลักษณะอาการของผู้ป่วยเริ่มต้นด้วยการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ภายในหนึ่งวันจะมีไข้สูงหนาวสั่น อุณหภูมิสูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส และมีอาการไอไม่มีเสมหะ ปวดท้อง อุจจาระร่วงร่วมด้วย

แหล่งข้อมูล

  1. Emerging infectious disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Emerging_infectious_disease [2015, March 3].
  2. Understanding Emerging and Re-emerging Infectious Diseases. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK20370/ [2015, March 3].